เปิด 73 จังหวัด เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

12 พ.ค. 2565 | 05:00 น.

กอนช. เปิดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รับฤดูฝนปี 65 เผยค่อนประเทศ 73 จังหวัดน่าห่วง ท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ช่วง ก.ค.- ธ.ค. อีสานนำโด่ง 18 จังหวัด เหนือ-กลาง-ใต้ ชี้พายุเป็นตัวแปร ข้อมูลปี 64 เจอพายุ 6 ลูก ทุบเศรษฐกิจเสียหาย 8 พันล้าน "ประยุทธ์-ประวิตร" กำชับแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปี 2565 ของประเทศไทย วันที่ 13 พฤษภาคม (คลิกอ่าน) นี้ สำหรับในปีนี้ช่วงระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. คาดปริมาณฝนโดยรวมของประเทศไทยส่วนใหญ่จะสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 ยกเว้นภาคใต้ปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 3 โดยมีรายละเอียดรายภาคดังนี้

 

“ภาคเหนือ” จะมีปริมาณฝนรวมประมาณ 500-580 มิลลิเมตร(มม.) จากค่าปกติ 515 มม. "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" 610-690 มม. (ค่าปกติ 631 มม.) ภาคกลาง 410-490 มม. (ค่าปกติ 432 มม.) กรุงเทพฯและปริมณฑล 580-660 มม.(ค่าปกติ 586 มม.) ภาคตะวันออก 740-820 มม.(ค่าปกติ 750 มม.)

 

"ภาคใต้ฝั่งตะวันออก" 310-390 มม.(ค่าปกติ 371 มม.) และ "ภาคใต้ฝั่งตะวันตก" 910-990 มม. (ค่าปกติ 994 มม.) ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝน ทางกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลากตั้งแต่เดือน ก.ค.ถึง ธ.ค.2565

 

สุรสีห์ กิตติมณฑล

 

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง กอนช. มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 73 จังหวัด ใน 604 อำเภอ และ 2,979 ตำบล แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ใน 183 อำเภอ 852 ตำบล ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ บึงกาฬ ขอนแก่น อุดรธานี เลย หนองคาย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม

 

ส่วน "ภาคเหนือ" มี 17 จังหวัด ใน 145 อำเภอ 664 ตำบล ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ "ภาคกลาง" 13 จังหวัด ใน 87 อำเภอ 563 ตำบล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร

 

เปิดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม  (ก.ค.-ธ.ค.) ปี 2565

 

"ภาคใต้" มีพื้นที่เสี่ยง 14 จังหวัด ใน 131 อำเภอ 702 ตำบล ได้แก่ นครศรีธรรมราช พังงา สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ และภูเก็ต และภาคตะวันตกใน 4 จังหวัด 19 อำเภอ 32 ตำบล ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบ คีรีขันธ์ และ "ภาคตะวันออก" มี 7 จังหวัด 42 อำเภอ 164 ตำบล ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และ สระแก้ว

 

นายสุรสีห์ กล่าวว่า สทนช.ได้เตรียม 13 มาตรการ รับมือกับฤดูฝนปี 2565 โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์จะมีฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ไม่ได้บอกว่าจะมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 3 มาตรการ จากปีก่อนมีเพียง 10 มาตรการ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

เปิดความเสียหายน้ำท่วมพื้นที่เกษตร ปี 2564

 

โดยจะมีการตรวจสอบความมั่นคงของคันน้ำ จากปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่พอมีปริมาณน้ำมากทำให้พนังกั้นน้ำที่ใช้มานานรับไม่ไหวเกิดการพังหรือการกัดเซาะ รวมทั้งเรื่องการจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือกรณีที่มีอุทกภัยค่อนข้างมาก เพื่อให้กระบวนการทำงานสอดรับกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระบบการแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งจะมีการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน นำร่องภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี สทนช. เป็นเจ้าภาพ

 

“สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมปีนี้จะรุนแรงแค่ไหน อย่างไร คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เงื่อนไขอยู่ที่สภาพอากาศ หรือพายุที่จะเข้ามา ทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือดีเปรสชัน อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สทนช. มีความห่วงใยเรื่องนี้มาก ทุกเช้าผมต้องส่งข้อมูลในเรื่องการดำเนินการตามมาตรการให้ท่าน ทราบอยู่ตลอดเวลา และท่านจะมีข้อแนะนำ โดยเน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายสุรสีห์ กล่าว

 

อนึ่ง ข้อมูลปี 2564 มีพายุเข้าไทย 6 ลูก ได้แก่ พายุไซโคลนยาอาส, พายุโคะงุมะ, พายุโซนร้อนโกนเซิน, พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่, พายุโซนร้อนไลออนร็อก และพายุโซนร้อนคมปาซุ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 8,000 ล้านบาท

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,782 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565