เปิดกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ขับเคลื่อนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

13 มิ.ย. 2565 | 05:44 น.

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน

 

เปิดกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ขับเคลื่อนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070 เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งสร้างศักยภาพการแข่งขันและการลงทุนของผู้ประกอบการของไทยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การลงทุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามทิศทางโลก ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการลงทุนในนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศในระยะยาว

 

ทั้งนี้ แนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) ดังกล่าว ได้กำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนไว้ว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ ให้มีสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่น้อยกว่า 50% โดยพิจารณาต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานหรือ ESS ร่วมด้วย และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวสูงขึ้น

 

อีกทั้ง ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ตามนโยบาย 30@30 เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดการปลดปล่อย GHG ปรับปรุงประสิทธิ ภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5

 

รวมถึงการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่า 30% โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน และปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

 

ดันแผนพลังงานชาติ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวทางการจัดทำแผนสู่การเปลี่ยนผ่านนั้น ( Energy Transition)  กระทรวงพลังงาน จะดำเนินงานภายใต้แนวทาง 4D ที่จะต้องดำเนินงานให้แล้วเสร็จในระยะ 5-10 ปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ประกอบด้วย ด้านไฟฟ้าในระยะ 5 ปีแรก จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายที่กำหนดในระยะแรก  ลดสัดส่วนการผลิตจากเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสูงและการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำ  รวมถึงการพัฒนาระบบกักเก็บและการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS)

 

ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้ายุคใหม่ บริหารจัดการระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Smart Grid พัฒนาการพยากรณ์และการควบคุมระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย ดำเนินการผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานแบบกระจายศูนย์รวมทั้ง พัฒนาระบบการบริหาร IPS ที่ยืดหยุ่น และศึกษาแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้า

 

เปิดกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ขับเคลื่อนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ติดตั้ง CCUS ในโรงไฟฟ้า

ขณะที่ปีที่ 6 เป็นต้นไปถึงปี 2575 จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายที่กำหนดในระยะกลาง ลดสัดส่วนการผลิตจากเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำ มีการติดตั้งระบบ CCUS ในโรงไฟฟ้า ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ประเภทที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้ายุคใหม่ บริหารจัดการระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Smart Grid ครอบคลุมทั่วประเทศ และมีระบบการพยากรณ์และการควบคุมระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย

 

ดำเนินการผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานแบบกระจายศูนย์  รวมทั้งมีระบบการบริหารผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่ยืดหยุ่น มีแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้า และปลดโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhanced Single-Buyer (ESB) ที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว เพื่อเปิดกว้างสำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ คือ Peer to Peer Energy Trading หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบ

 

ส่งเสริมใช้ก๊าซภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ด้านก๊าซธรรมชาติ ช่วง 5 ปี จะเป็นการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมทดแทนเชื้อเพลิงที่ปล่อย CO2 สูง เพิ่มขึ้น พัฒนาระบบการประเมินศักยภาพและกำกับดูแลทรัพยากรปิโตรเลียมอย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และปรับปรุงกฎระเบียบ มาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันก๊าซธรรมชาติ

 

ส่วนปีที่ 6-10 ปี จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำในภาคอุตสาหกรรม มีระบบการประเมินศักยภาพและกำกับดูแลทรัพยากรปิโตรเลียมอย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และมีกฎระเบียบ มาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันก๊าซธรรมชาติ อย่างเต็มรูปแบบ

 

ใช้ไฟฟ้าแทนลดใช้ LPG  

อีกทั้ง ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงช่วง 5 ปีแรก จะปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมันให้เป็น EURO 5 ส่งเสริมการใช้ Biofuel เพิ่มขึ้น พัฒนาการจัดทำระบบการควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลด้านน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีจำนวนชนิดน้ำมันที่เหมาะสม และมีโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน และมีแนวทางส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ มาเป็นไฟฟ้า โดยลดการใช้ LPG ลดลง

 

ส่วนปีที่ 6-10 ปี คุณภาพน้ำมันในประเทศไทยมีคุณภาพเทียบเท่า EURO 5 ส่งเสริมการพัฒนา Biofuel เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง มีระบบการควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลด้านน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มีจำนวนชนิดน้ำมันที่เหมาะสม และมีโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพที่แข่งขันได้กับเชื้อเพลิงอื่น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจต่างๆ มาเป็นไฟฟ้า โดยลดการใช้ LPG ลดลง

 

เพิ่มหัวจ่ายชาร์จไฟอีวี 2 หมื่นแห่ง

ด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ช่วง 5 ปีแรก จะประเมินศักยภาพ RE ใหม่ ปรับเพิ่มการผลิตและใช้ RE โดยที่ไทยจะเป็นฐานของ Bio Circular Economy พร้อมดำเนินการจัดทำ Data Platform และพัฒนาศูนย์ข้อมูลในการควบคุมพลังงานหมุน เวียนด้วยระบบดิจิทัล พัฒนาการผลิตและการใช้ RE ในระดับชุมชนเพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก และดำเนินการการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีกลไกส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

 

ส่วนปีที่ 6-10 ปี จะปรับเพิ่มการผลิตและใช้ RE ในประเทศ ให้ไทยเป็นฐานของ Bio Circular Economy และเป็นผู้นำด้าน BCG ในภูมิภาค มี Data Platform และมีศูนย์ข้อมูลในการควบคุมพลังงานหมุนเวียนด้วยระบบดิจิทัล มีการผลิตและการใช้ RE ในระดับชุมชนเพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก และมีกฎระเบียบให้มีกลไกส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

 

สำหรับด้านการอนุรักษ์พลังงาน (EE) ช่วง 5 ปีแรก จะประเมินศักยภาพ EE ใหม่ ปรับเพิ่มค่าเป้า EE ส่งเสริมการลงทุนในตลาดเทคโนโลยี EE ดำเนินการพัฒนาและจัดทำ Digital Platform EV Platform และระบบ Smart Energy Management พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Charging station) เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยมี Charging station จำนวน 8,000 หัวจ่าย ดำเนินการพัฒนามาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพปรับปรุงกฎระเบียบและกำหนดมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

 

ขณะที่ปีที่ 6-10 ปี จะปรับเพิ่มค่าเป้า EE ส่งเสริมการลงทุนในตลาดเทคโนโลยี EE มีระบบ Digital Platform EV Platform และระบบ Smart Energy Management เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐาน (Charging station) ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 21,000 หัวจ่าย มีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ และมีกฎระเบียบ มาตรการเพื่อให้เกิดกลไกตลาดส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน