‘พาณิชย์’ ร่วมวงถก ERIA ชูแผนหนุนอาเซียน-เอเชียตะวันออก

06 มิ.ย. 2565 | 07:20 น.

‘พาณิชย์’ ร่วมวงถก ERIA ชูแผนหนุนอาเซียน-เอเชียตะวันออก เน้นวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด สาธารณสุข และปัญหาขยะพลาสติก ด้านไทยเสนอการพัฒนาการค้าและการลงทุนเพื่อประโยชน์ของประชาชน และผลักดัน BCG โมเดล สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 15 ของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia: ERIA) องค์กร think tank เชิงนโยบายทางเศรษฐกิจของอาเซียนกับเอเชียตะวันออก

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์

โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานของสถาบัน ERIA ในการสนับสนุนผลักดันประเด็นและผลลัพธ์ต่างๆ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ (Priority Economic Deliverables) อาทิ การดำเนินการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน การเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอาเซียนหลังโควิด-19

 

‘พาณิชย์’ ร่วมวงถก ERIA  ชูแผนหนุนอาเซียน-เอเชียตะวันออก

ทั้งนี้สถาบัน ERIA ยังมีแผนงานสนับสนุนอาเซียนและเอเชียตะวันออกในปีนี้ โดยเน้นการศึกษาวิจัยเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด การสาธารณสุข โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ และการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ของอาเซียนและประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออก พร้อมทั้งชูผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของโลกต่อภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก

 โดยพบว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง ERIA ได้เสนอให้ประเทศต่างๆ

ยึดตามกฎระเบียบทางการค้าสากลที่มีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นศูนย์กลาง เพื่อความโปร่งใส เท่าเทียม และการสร้างบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนที่คาดการณ์ได้ และเสนอให้บรรจุประเด็นด้านดิจิทัลเป็นหนึ่งในยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

ด้านไทยเห็นว่า ทุกประเทศต้องเน้นเรื่องการพัฒนาการค้าและการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ได้แก่ 3 เรื่องสำคัญ คือ การสร้างเครือข่ายการผลิตภายในภูมิภาคที่ทุกประเทศจะต้องได้รับประโยชน์จากการแบ่งงานกันผลิตตามความชำนาญ การกำหนดมาตรการกฎระเบียบที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าทางดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล รวมทั้งเน้นย้ำการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการผลักดันประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในปัจจุบันอีกด้วย

ทั้งนี้ สถาบัน ERIA เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ก่อตั้งขึ้นตามมติของผู้นำในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของอาเซียนและเอเชียตะวันออก ผ่านงานวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายประเด็นทางเศรษฐกิจสำคัญ และการจัดทำกิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ERIA เป็นประจำทุกปี ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์