รัฐพัฒนาแพลตฟอร์ม สู่สังคมไร้เงินสด ธปท.ขยายบริการเชื่อมอาเซียน

06 มิ.ย. 2565 | 02:51 น.

รัฐบาลพัฒนาแพลตฟอร์มสู่ "สังคมไร้เงินสด ชี้พร้อมเพย์ เป๋าตัง สลากดิจิทัล ถือเป็นความสำเร็จปฎิบัติได้จริง ขณะที่ ธปท.ขยายการให้บริการเชื่อมโยงอาเซียน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ควบคู่ไปกับการผลักดันของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ดำเนินการเชื่อมโยงการโอนเงินแบบพร้อมเพย์กับหลายประเทศในอาเซียน

 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ผู้บริโภคในประเทศร้อยละ 89 วางแผนใช้ระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาล ธปท. สถาบันการเงิน และภาคเอกชนจึงร่วมมือกันในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการทำธุรกรรมและการให้บริการรูปแบบต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ การค้า e-Commerce

 

และ การใช้ Digital Banking รวมถึงการป้องการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เตรียมยกร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเพื่อใช้เป็นกฎหมายกลางในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม

 

ก้าวย่างสำคัญของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด คือ การที่รัฐบาลได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆจนประสบผลสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ได้แก่


 

1)โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านราย และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ สำหรับ ซื้อขายสินค้าจากร้านธงฟ้า (กว่า 20,000 แห่ง) หรือร้านค้าที่ร่วมโครงการ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้
 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

  • 2)โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment ที่เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์แบบ Any ID ที่เชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถต่อยอดไปสู่ระบบภาษีและการบริจาค e-Donation สำหรับขอลดหย่อนภาษีได้

 

  • 3) Government Wallet (G-Wallet) ถุงเงิน application สำหรับ SME ขนาดเล็ก คือการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “เป๋าตัง” กว่า 50 ล้านคน และร้านค้า–SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง – เราเที่ยวด้วยกัน – ชิมช้อปใช้ เป็นต้น


 

  • 4) การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับการคืนภาษี VAT ให้กับนักท่องเที่ยว และการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับระบบภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งภาษี และล่าสุด

 

  • 5)โครงการขายสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตัง ที่เพียงสามวัน จำหน่ายแล้ว 4.4 ล้านใบ
     

มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการลงทะเบียนด้วยระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ Prompt pay และ QR Payment รวมทั้งโครงการ G-Wallet และแอปถุงเงิน นำมาต่อยอดอีกหลายๆ เรื่อง

 

เช่น Digital Health Platform ที่เชื่อมโยงสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช.ผ่านแอปเป๋าตัง ใช้ในการจ่ายยา – แจก ATK ณ ร้านขายยา หรือหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ

 

น.ส.รัชดา กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ ว่า  ได้ต่อยอดบริการพร้อมเพย์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวคิด ASEAN Payment Connectivity และประเทศอื่น ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก

 

บริการที่ ธปท. ได้เดินหน้าเชื่อมโยงกับต่างประเทศในระยะใกล้ ประกอบด้วย (1) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment ของหลายธนาคาร สามารถใช้ที่ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชาซึ่งจะเริ่มให้บริการภายในปีนี้ (2) การโอนเงินระหว่างประเทศด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ระหว่างไทย-สิงคโปร์ โดยในอนาคตจะขยายบริการไปยังประเทศต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการให้มากขึ้น 


 
พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ควบคู่กับความพร้อมของสังคมไร้เงินสด โดยรัฐบาลได้ขับเคลื่อนดำเนินการในหลายมิติ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการให้เป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ

 

จะทำให้ระบบการให้บริการ และการใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับการแข่งขันในด้านสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”