ตลาดไมซ์ 5 แสนล้านฟื้นตัว ‘เอ็กโปลิ้งค์’ ดันไทยฮับอาเซียน

05 มิ.ย. 2565 | 07:55 น.

ตลาดไมซ์ 5 แสนล้านส่งสัญญาณฟื้นตัว “เอ็กโปลิ้งค์” ชงจัด 5 งานใหญ่ ประเดิม THAIFEX-Anuga Asia ปลุกมู๊ดจับจ่าย คาด 2 ปี ไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ อินโดไชน่าและเซาท์อีสต์เอเชีย

อุตสาหกรรมไมซ์ เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจากทีเส็บ ระบุว่าในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการจัดงานไมซ์ในไทยอยู่ที่ 559,840 ล้านบาท

 

แบ่งเป็นตลาดงานแสดงสินค้า (Exhibition) มากอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 54.95% รองลงมาคือตลาดงานสัมนา 18.41% งานประชุม 16.07% และงานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 10.57% สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านรายได้ประชาชาติที่ 550,200 ล้านบาท หรือ 3.27% ของจีดีพีประเทศไทย

              

ขณะที่ปี 2564 อุตสาหกรรมตลาดไมซ์ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มีรายได้จากการใช้จ่ายจากงานไมซ์ 33,230 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการจัดงานแสดงสินค้า 31,131 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 93.69% ตามมาด้วยงานสัมมนา 4.04% งานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 1.17% และงานจัดประชุม 1.10% สร้างจีดีพีให้แก่ประเทศได้ 29,749 ล้านบาท

‘เอ็กโปลิ้งค์’ ดันไทยฮับอาเซียน               

นายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กโปลิ้งค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีที่ผ่านมาบรรยากาศโดยรวมของธุรกิจไมซ์อยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะการจัดงานออนไลน์ไม่สามารถทดแทนงานฟิสิกคอลได้ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเอ็กโปลิ้งค์ได้เตรียมการเพื่อรองรับการกลับมาของธุรกิจไมซ์ เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรสามารถทดแทนการที่ผู้คนจะมาพบกัน และมาเจรจาธุรกิจกันได้ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่เป็นหัวใจสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจ

              

โดยภาพรวมของการจัดงานจะต้องพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม ความจำเป็นและเทรนด์ เช่นปัจจุบันทุกประเทศกำลังพิจารณาในเรื่องของ “ความมั่นคงทางด้านอาหารและความยั่งยืน” หลายประเทศเริ่มจำกัดการส่งออกสินค้าอาหารบางประเภท เช่นมาเลเซีย ส่งผลให้สิงคโปร์ต้องหันมานำเข้าจากประเทศไทยแทน ดังนั้นจึงเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส

 

ในปีนี้บริษัทจึงเลือกเริ่มต้นด้วยงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 เพราะว่างานนี้จะสร้างความเชื่อมั่นทั้งในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังบรรยากาศของเศรษฐกิจซบเซามาระยะหนึ่ง

              

“ตอนที่เกิดแพนเดมิค ผู้จัดงานโดยมากพยายามที่จะเข้าไปออนไลน์ ยกเว้นเราที่ไม่ผลีผลามเข้าไป เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่ที่เราต้องไปออนไลน์เพราะมีมาตรการของรัฐป้องกันอยู่ แต่ถ้าเราเทคเอาต์มาตรการของรัฐแล้วคนยังไม่อยากออกมา จึงจะเป็น new normal ซึ่งงานนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าคนเข้าร่วมงานเยอะกว่า 2-3 ปีที่แล้ว

THAIFEX-ANUGA ASIA 2022               

ตามตัวเลขของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าการเจรจาธุรกิจในงานนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดภายในงานหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะสูงกว่าปกติประมาณ 10% และคาดว่าจะมีการเจรจาธุรกิจผ่านออนไลน์ประมาณ 400 ล้านบาทและเกิดความร่วมมือทางธุรกิจต่อเนื่องไปอีก 8 เดือนนับจากนี้”

              

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้สรุปภาพรวมของงาน THAIFEX พบว่า 3 วันแรกในส่วนของงาน On-Site ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าเข้าชมงาน 47,256 ราย จาก 48 ประเทศ รวมมูลค่าการสั่งซื้อ 39,206 ล้านบาท แบ่งเป็นการสั่งซื้อภายในงาน 372 ล้านบาท และคาดการณ์ยอดสั่งซื้อใน 1 ปี 38,834 ล้านบาท ส่วนการจัดงาน Online ผ่านแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com มีผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าเข้าชมงาน 33,502 ราย จาก 97 ประเทศ มีการขอจับคู่เจรจาธุรกิจรวม 190 คู่

              

ปัจจุบันธุรกิจของเอ็กโปลิ้งค์ ประกอบไปด้วย 3 ธุรกิจคือ 1 การจัดงานของตัวเองเช่นงาน THAIFEX ซึ่งกินสัดส่วนรายได้มากที่สุดกว่า 70%, งาน Logimat Intelligent Warehouse เป็นต้น ธุรกิจที่ 2 คือการนำผู้ประกอบการไทยไปออกงานต่างประเทศในพอร์ตของโคโลญเมสเซ กว่า 50 งาน

 

และธุรกิจสุดท้ายคือการบริหารจัดการงานอีเว้นต์ให้กับลูกค้า โดยรวมแล้วก่อนเกิดโควิด เอ็กโปลิ้งค์ สามารถสร้างรายได้ประมาณ 250 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะสามารถทำรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท

  THAIFEX-ANUGA ASIA 2022              

“ในหนึ่งปีมีการจัดงานในประเทศราว 4-5 งาน โดยเน้นไปที่งานเทรดแฟร์ และงานที่อยู่ใน New S Curve ของประเทศไทย ในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 6 งาน โดยดึงงานที่อยู่ในโปรไฟล์ของโคโลญเมสเซ (ประเทศเยอรมนี) ซึ่งถือหุ้นในบริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด 49% เราตั้งใจที่จะดึงงานกลับเข้ามาจัดในประเทศไทย เพื่อดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางมากขึ้น

 

นอกจากอุตสาหกรรมอาหาร ยังเริ่มจัดงาน Kind + Jugend Asean ซึ่งเป็นงานระดับโลกอีกงานหนึ่ง และพิจารณางานที่เกี่ยวข้องกับการประกันหรือ Financial Technology และอื่นๆ นอกจากนี้เราก็ยังร่วมมือกับทางเนเธอร์แลนด์ จัดงาน Victam Asia หรืองานเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ด้วย”

              

ด้านนายแมธเธียส คูเปอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคโลญเมสเซ จำกัด (ประเทศเยอรมนี) กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลไทยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้ต่างชาติตื่นตัวอย่างมากทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อิตาลี ที่ต้องการกลับมาทำธุรกิจอย่างเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้คนทั่วโลกไม่ได้กังวลในเรื่องของ pandamic อีกแล้ว

 

แต่กำลังกังวลในเรื่องของทางการเมืองเช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย อัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อค่าครองชีพหรือราคาสินค้าสูง หลายๆธุรกิจเริ่มตื่นตัวและปรับตัวโดยบาล๊านซ์การส่งออกและบาล๊านซ์ค่าเงินไปยังหลายๆประเทศนี่เป็นทิศทางที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงแพนดามิก

              

“สำหรับโคโลญเมสเซช่วงที่ประสบปัญหาในเรื่องของโรคระบาด เราเตรียมศึกษาและตั้งใจที่จะนำโชว์หรือเอ็กโปใหม่ๆเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น เรามีโปรไฟล์หลากหลายมากในแต่ละปีมีการจัดงานประมาณ 53 งานครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องทางการเงินเดิมทีงานที่เกี่ยวข้องก็จะจัดในสิงคโปร์

 

แต่เราคิดว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและใช้เรื่องของออนไลน์เยอะมาก เรากำลังคิดว่าจะจัดงานเกี่ยวกับไฟแนนซ์เชียลเทคหรือประกัน คิดว่าหลังจากนี้อีก 2 ปีประเทศไทยน่าจะเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมไมซ์ของทั้งอินโดไชน่าและเซาท์อีทเอเชียได้ ถ้ารอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วค่อยมาคิดจะช้าไป”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,789 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565