ดรีมทีมคณะกรรมการครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ

28 พ.ค. 2565 | 04:49 น.

ดรีมทีมคณะกรรมการลุ่มน้ำ ครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ

 

 

 

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีองค์กรขับเคลื่อนเรื่องน้ำหลักๆ อยู่ 2 ส่วนองค์กรสูงสุดระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

               ดรีมทีมคณะกรรมการครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ

ในพื้นที่ระดับลุ่มน้ำ มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 คณะ  มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เลือกกันเองภายในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนโดยตำแหน่ง เป็นต้น

 

คณะข้างต้น จะมีตัวแทนจาก สทนช. นั่งเป็นกรรมการและเลขานุการ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของ สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลาง ประสาน บูรณาการ และขับเคลื่อนเรื่องน้ำอย่างชัดเจน

ดรีมทีมคณะกรรมการครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ

โครงสร้างนี้ จะเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561เพราะโดยกฎหมาย กำหนดบทบาท หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำในการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำ 

 

จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ

 

พิจารณาการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำ ควบคุมการใช้น้ำตามกรอบหลักเกณฑ์ที่ กนช. กำหนด เสนอและให้ความเห็นต่อ กนช. เกี่ยวกับแผนงานและโครงการ

ดรีมทีมคณะกรรมการครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ

ในทางกลับกันหน่วยงานที่จะมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการลุ่มน้ำ ย่อมหนีไม่พ้น สทนช. ที่มี สทนช. ภาคเป็นเลขานุการฝ่ายเลขานุการ จะทำหน้าที่ตั้งเรื่องหรือชงเรื่อง ตรงนี้ สทนช. ภาค ซึ่งมีด้วยกัน 4 ภาค จึงต้องเข้มแข็งถึงจะมีพลังในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ

              

ภาพของคณะกรรมการลุ่มน้ำดูจะใหญ่โตกว้างขวางตามพื้นที่ลุ่มน้ำ 22 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ดูแลจึงกว้างขวางตามขอบเขตของลุ่มน้ำ ซึ่งมีมากกว่าแค่พื้นที่ปกครอง  มักครอบคลุมหลายจังหวัด ตามข้อเท็จจริง   คณะกรรมการลุ่มน้ำยังมีตัวช่วย ได้แก่ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ซึ่งมีทุกจังหวัดครอบคลุม 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเป็นองค์กรที่ สทนช. ผลักดันมาแต่ต้น

              

อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ถือเป็นหน่วยเล็กสุดในระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและ สทนช. ภาคเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

              

เป็นบทบาทของ สทนช. เช่นกัน แต่แยกย่อยลงมาเป็นรายจังหวัด รู้สภาพปัญหาในพื้นที่ได้ดีกว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำจึงขึ้นอยู่กับ สทนช. จะเลือกใช้อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเป็นตัวช่วยหรือไม่  ถ้าใช้ก็เป็นข้อดีตรงที่มีความรู้เรื่องน้ำในพื้นที่ละเอียดกว่า และเปิดช่องให้จังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมอีกด้วย

 

น่าจะเป็นผลดีมากกว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำไม่ต้องแบกรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำไว้เพียงหน่วยเดียว ในขณะที่ขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำกว้างขวางมาก แต่ติดปัญหาตรงที่บุคลากรของ สทนช.ภาคมีจำกัดที่จะกระจายคนลงไปรับผิดชอบในแต่ละจังหวัดนั้นจึงแทบจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งทางออกหนึ่ง คือ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศด้านน้ำเพื่อให้บุคลากรของจังหวัดสามารถใช้งานได้ง่าย

              

ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร โดยโครงสร้าง โดยบทบาทการเป็นหน่วยงานกลางด้านทรัพยากรน้ำ  สทนช. คือหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ และมีส่วนสำคัญต่อบทบาทของคณะกรรมการลุ่มน้ำด้วยโดยปริยาย

             

  โครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ  นอกจากกรรมการโดยตำแหน่งแล้ว จะมีกระบวนการคัดเลือกตามกฏหมาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

              

สทนช. จัดให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำเสร็จสิ้นทั้ง 22 คณะไปแล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

 

โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ และการอบรม “คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครื่องมือขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 คณะ และหน่วยงานท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,200 คน

 

ท่ามกลางความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านน้ำอย่างรุนแรง ไม่ว่าน้ำแล้งหรือน้ำหลาก  บทบาทของคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 คณะ จึงเป็นที่จับตาจากหลายฝ่าย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตามมาด้วยฝนตกหนักในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมหลายจังหวัดชิมลาง

 

นับจากนี้ โจทย์ในการบริหารจัดการน้ำ อยู่ในมือคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 คณะโดยสมบูรณ์ ทั้งบทบาท หน้าที่ และอำนาจ  น่าจะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโปรดให้กำลังใจและอดใจรอชม

ดรีมทีมคณะกรรมการครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ