โจทย์แก้มลิงทุ่งหินเดิมพันด้วยบูรณาการ

28 พ.ค. 2565 | 01:45 น.

โจทย์แก้มลิงทุ่งหิน สมุทรสมคราม เดิมพันด้วยบูรณาการ ข้อสั่งการจาก บิ๊กป้อม ให้พัฒนาโครงการแก้มลิง 2,623 ไร่

สมุทรสงคราม จังหวัดเล็กที่สุดของประเทศไทย น่าจะบริหารจัดการน้ำได้ง่าย โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค เอาเข้าจริง กลับตรงกันข้าม และชวนปวดหัวเพราะไม่มีแหล่งน้ำพึ่งพาตัวเองได้เลย

              

น้ำประปาของสมุทรสงคราม พึ่งน้ำจาก 4 แหล่ง ได้แก่ แม่น้ำแม่กลองจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา สมุทรปราการ ปากท่อ (ราชบุรี) และบริษัทเอ็กคอมธารา จำกัด ซึ่งเป็นของเอกชน ขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 27 บาท

              

ดังนั้น เมื่อมีข้อสั่งการจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้พัฒนาโครงการแก้มลิงทุ่งหิน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในพื้นที่ 2,623 ไร่ จึงได้รับการขานรับจากหลายๆ ฝ่าย

 

โดยมีจังหวัดสมุทรสงครามเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงชนบท และกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีระยะดำเนินการ 2564-2576 หรือภายใน 12 ปี

โจทย์แก้มลิงทุ่งหินเดิมพันด้วยบูรณาการ

เมื่อโครงการแก้มลิงทุ่งหินก่อสร้างแล้วเสร็จ การประปาส่วนภูมิภาคจะจัดตั้งสถานีสูบน้ำ กำลังผลิต 1,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ในเนื้อที่ 50 ไร่ และส่งน้ำให้ครัวเรือนได้ 20,000 รายนี่เป็นความหวังแรกๆ ของสมุทรสงครามที่หวังพึ่งพาตนเองเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค

              

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง จึงประชุมหารือร่วมกับ นายขจร ศรีชวโนทัย  ผู้ว่าราชการสมุทรสงคราม นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ศาลากลาง จ.สมุทรสงคราม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

              

จังหวัดสมุทรสงครามในฐานะหน่วยงานหลักเอาจริงกับโครงการนี้ ท่านผู้ว่าฯ ขจร แม้เพิ่งมารับตำแหน่งไม่นาน ก็เร่งจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาแก้มลิงทุ่งหิน เพื่อขับเคลื่อนโครงการอย่างจริงจัง

              

“จังหวัดฯ แข็งขันมาก ถือเป็นเรื่องดี แต่เมื่อต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ จึงต้องมีตัวช่วย  หนีไม่พ้นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางด้านน้ำ และจะช่วยขับเคลื่อนโครงการได้เร็วขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว

โจทย์แก้มลิงทุ่งหินเดิมพันด้วยบูรณาการ

แม้จังหวัดจะมุ่งหวังใช้แก้มลิงทุ่งหินเป็นแหล่งน้ำดิบประปาของสมุทรสงคราม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ แต่รายละเอียด และความคืบหน้าของโครงการยังคงมีปัญหาไม่น้อย

 

อาทิ พื้นที่ทุ่งหินเป็นดินตะกอนทะเล จึงมีสภาพน้ำกร่อย จะแปลงให้เป็นน้ำจืด กรมพัฒนาที่ดินซึ่งมีความเชี่ยวชาญจะให้คำตอบว่า จะใช้วิธีล้างดิน ด้วยวิธีไหน อย่างไร

              

ในทางตรงข้าม ไม่สามารถแปลงเป็นน้ำจืดได้ แก้มลิงทุ่งหินจะใช้ประโยชน์อะไร อย่างไรเช่นเดียวกัน การปลูกป่าชายเลนทดแทนพื้นที่ป่าที่เสียไปจากการพัฒนาโครงการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

แม้อนุมัติให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ แต่แผนการปลูกป่าเพิ่ม 5 เท่าตัว สมุทรสงครามมีพื้นที่ไม่พอ ต้องกระจายไปปลูกจังหวัดอื่น แต่แผนการปลูกในสมุทรสงครามเป็นอยู่ลำดับหลังแทนลำดับแรก

              

ความคืบหน้าในการก่อสร้างคันดิน ขุดลอกตะกอนดิน ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของกรมชลประทานเอง ซึ่งวางแผนไว้ว่าโครงการนี้จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่เก็บกักเดิมที่ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยบรรเทาอุทกภัย และมีพื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่             

 

ยังมีโจทย์อีกว่า หากโครงการแก้มลิงทุ่งหินก่อสร้างแล้วเสร็จ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อไป และ ฯลฯถ้าจะเห็นรูปธรรมความก้าวหน้า น่าจะเป็นถนนที่กรมทางหลวงชนบทก่อสร้างเข้าพื้นที่โครงการ อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในอนาคต คล้ายๆ ถนนสายหลัก คลองโคน-ชะอำ ที่ก่อสร้างใช้งานไปแล้ว

              

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า จำเป็นต้องจัดทำแผนแม่บท แผนงานโครงการและงบประมาณ เพื่อให้การพัฒนาขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นรูปธรรมและภายใต้กรอบเวลาที่วางไว้

              

“ดูจากข้อมูลและสภาพพื้นที่ แก้มลิงทุ่งหินมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่คนในสมุทรสงคราม ทั้งในแง่น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง ดังนั้นการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้าไปพัฒนาพื้นที่นี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

              

หากแก้มลิงทุ่งหินสำเร็จเป็นรูปธรรม แก้มลิงแห่งนี้น่าจะเป็นโมเดลสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอีกหลายแห่งที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง โดยขาดการจัดการและใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

โจทย์แก้มลิงทุ่งหินเดิมพันด้วยบูรณาการ