ย้อนรอยรุ่งโรจน์อันดามัน เที่ยว‘กันตัง’ เมืองวินเทจ

25 พ.ค. 2565 | 09:43 น.

กันตัง เมืองที่เคยคึกคักรุ่งเรืองในอดีต แต่ครั้งเป็นเมืองท่าการค้า ต่อด้วยแพปลาใหญ่อันดับหนึ่งในฝั่งอันดามัน วันนี้โรยราเมื่อเรือประมงหดหายไปกว่า 70 % ผู้นำธุรกิจชูเป้าหมาย ปรับบ้านปรุงเมืองรับนักท่องเที่ยว ย้อนรอยรุ่งโรจน์อันดามันเที่ยว"กันตัง"เมืองวินเทจ 

ในอดีต“เมืองกันตัง”ครั้งพระยารัษฎาฯ(คอซิมบี้)ปกครองเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ทำการค้ากับเกาะปีนัง มาเลเซีย นำยางพาราพืชเศรษฐกิจมาปลูกต้นแรกของเมืองไทย   เมื่อถึงยุคประมงก็รุ่งเรืองสุด ๆ ปัจจุบันกลับตกต่ำ  ธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เรือ รถไฟหยุดเดิน เศรษฐกิจซบหนัก   ภาคเอกชนระดมสมองวางยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้น “เมืองกันตัง” กลับมารุ่งได้หรือไม่..?  

 

ในอดีตครั้งที่เมืองกันตังถูกตั้งให้เป็นตัวจังหวัด โดยมีพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังเข้ามาปกครอง มีการพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านมีอาชีพ คือการนำเมล็ดพันธุ์ยางพาราจากมาเลเซียชุดแรกมาปลูกในตัวเมืองกันตัง ก่อนขยายพันธุ์ปลูกไปทั่วจังหวัดตรัง ภาคใต้ และประเทศไทยในเวลาต่อมา

ย้อนรอยรุ่งโรจน์อันดามัน เที่ยว‘กันตัง’ เมืองวินเทจ

ย้อนรอยรุ่งโรจน์อันดามัน เที่ยว‘กันตัง’ เมืองวินเทจ

นอกจากนั้นมีการปลูกหมาก พริกไทย เลี้ยงไก่เลี้ยงหมู วัวคลาย ไว้กินและขายไปยังเกาะปีนัง  เมืองกันตังมีท่าเรือขนส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ มีเส้นทางรถไฟที่รัชกาลที่ 5 ให้งบประมาณก่อสร้างมายังสถานีกันตัง เพื่อขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟ และจากรถไฟลงเรือ ยุคพระยารัษฎาฯ เมืองกันตังเจริญสุด ๆ

 

เมื่อถึงยุคทำการประมงโดยเรือที่มีกำลังเครื่องยนต์ ออกหาปลาในทะเลลึกได้ ผู้คนจากภูมิภาคต่าง ๆ หลั่งไหลมาประกอบอาชีพประมงที่กันตังกันมาก โดยมีเรือประมงพาณิชย์ชนิดต่างกว่า 1,500ลำ นอกจากนั้นมีเรือประมงจากที่อื่น นำปลาเข้ามาขายที่กันตังอีกจำนวนมาก ยุครุ่งเรือประมงกกว่า 30 ปี เมื่อล่วงเลยมาปลาและสัตว์น้ำในทะเลลดลง กฎระเบียบทางราชการเข้มงวดขึ้น คนทำอาชีพประมงก็ลดลงจนถึงยุคตกต่ำ

ย้อนรอยรุ่งโรจน์อันดามัน เที่ยว‘กันตัง’ เมืองวินเทจ

ย้อนรอยรุ่งโรจน์อันดามัน เที่ยว‘กันตัง’ เมืองวินเทจ

กันตังปัจจุบันนี้ คือเมืองที่ได้ชื่อเจริญรุ่งเรืองในอดีต วันนี้เรือประมงจอดทอดสมอ เรือขนสินค้าไปต่างประเทศไม่มีสินค้าส่งออก รถไฟขบวน กรุงเทพ-กันตัง ก็หยุดเดิน คนว่างงานตกงาน ส่วนหนึ่งก็อพยพไปหาที่ทำกินตั้งถิ่นฐานที่อื่น หรือกลับภูมิลำเนาตนเอง หรือไปค้าขายเมืองอื่น รวมทั้งเปลี่ยนจากอาชีพประมง ไปประกอบอาชีพอื่น ๆ มีให้เห็นกันเป็นจำนวนมาก

 

ปัญหานี้ทำให้พ่อค้า นักธุรกิจ ในเมืองกันตังและจ.ตรัง ต่างมีความคิดที่จะรื้อฟื้นเมืองกันตังอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาดีกว่าเดิม จึงมีกลุ่มบุคคลระดับมันสมองให้ความเห็นที่น่าสนใจ ดังนี้

นายสรนนท์  จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง

นายสรนนท์  จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า นอกตนเองจะเป็นผู้นำท้องถิ่น ตนยังมีธุรกิจประมงและแพปลา ที่ทำมายาวนานครั้งประมงรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วันนี้ธุรกิจประมงปิดกิจการไปกว่า70% ในอดีตกันตังมีเรือประมงประมาณ  1,500ลำ  แยกเป็นเรืออวนล้อม ประมาณ 100ลำ เป็นเรืออวนลาก 1,300ลำ นอกจากนั้นที่เหลือ 100ลำ เป็นเรือ ไดร์หมึกและอื่น ๆ มีแพปลาขนาดใหญ่ประมาณ 30กว่าแห่ง

 

 เรือประมงมีการจ้างแรงงานจำนวนมาก เช่น เรืออวนล้อมแต่ละลำใช้คนงาน 40 คน มีเรือ 100 ลำ คนงาน 4,000คน     เรืออวนลากคนงาน 15 คน 1,300ลำ รวมคนงาน19,500คน  เรือไดร์หมึกและอื่น ๆ คนงาน 10 คน จำนวน 100 ลำ รวมคนงาน 1,000 คน รวมจำนวนคนงานบนเรือประมาณ 24,500 คน ถ้ารวมที่ดูแลครอบครัวเฉลี่ยครัวเรือนละอีก 3  คน คิดเป็นจำนวน 73,500คน   คนงานประจำแพปลา ห้องเย็น โรงงานปลาป่น โรงน้ำแข็ง  ไม่ต่ำกว่า 30,000คน คูณ 3 เท่ากับ 90,000 คน  รวมเป็นครอบครัวคนทำอาชีพเกี่ยวประมงในกันตังมีประมาณ 163,500 คน

 

ดังนั้น ธุรกิจประมงในฝั่งอันดามัน กันตังมาอันดับหนึ่ง ความเจริญหลั่งไหลมาเมืองท่ากันตังอย่างรวดเร็ว เพราะมีเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพ ถึงสถานีรถไฟกันตังสถานีสุดท้ายฝั่งทะเลอันดามัน   ท่าอากาศยานตรังห่างจากเมืองกันตัง 20 กิโลเมตรเท่านั้น ท่าเรือกันตังอยู่ในแผนที่เดินเรือโลกนอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเดินเรือระหว่างประเทศเพื่อขนส่งสินค้าตลอด

ย้อนรอยรุ่งโรจน์อันดามัน เที่ยว‘กันตัง’ เมืองวินเทจ

นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันธุรกิจประมง เหลือเรือประมาณ 200 กว่าลำเท่านั้น ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น แพปลา  ห้องเย็น โรงงานปลาป่น และโรงงานน้ำแข็งปิดกิจการไปกว่า 70 % เหลือประมาณ 30% เท่านั้น อีกทั้งกฎหมายและระเบียบทางราชการ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำประมงเป็นอันมาก  เจ้าของเรือ เจ้าของแพปลาหลายรายที่มีโอกาสก็หันประกอบอาชีพอื่น  ผู้ที่ยังมีกำลังก็ยังทนทำอาชีพประมงไปก่อนได้ อาชีพประมงในกันตังไม่รุ่งเรืองเหมือนอดีตแล้ว

 

เมื่ออาชีพประมงตกต่ำ เมืองกันตังจะกลับมาฟื้นฟูคืนชีพไม่ใช่เรื่อง่าย สิ่งที่มองเห็นอยู่บ้าง เมืองแห่งนี้นอกจากทำการประมง ยังมีการขนส่งสินค้าทางเรือไปยังต่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าทางรางรถไฟไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีการขนส่งสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์ เช่น สายที่ 1.จากท่าเรือกันตัง-ไปท่าเรือปีนัง-ต่อเรือไปยังประเทศปลายทางคือจีน (สายที่ 1 สินค้าลดลงมาก)  สายที่ 2.คือ ตู้คอนเทนเนอร์วิ่งกับรถไฟจากสถานีกันตัง-ทุ่งสง-สงขลา -เมืองบัตเตอร์เวิดเพื่อลงเรือที่ ท่าเรือปีนัง ส่งไปยังประเทศปลายทางคือจีน เส้นทางนี้รถไฟวิ่งได้ทั้งปี 

 

ท่าเรือต่างประเทศขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย  สิงคโปร์ อินโดเนเซีย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ  ปัจจุบันส่งสินค้าไปยังจีน สินค้าไม้ยางพาราแปรรูป น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน เฟอร์นิเจอร์ และอื่น ๆ ปูนซิเมนต์เม็ดไปยัง อินเดีย ศรีลังกา

 

ปัจจุบันท่าเรือที่อยู่ในเขตศุลกากรกันตังมีดังนี้ ท่าเรือเทศบาลเมืองกันตัง(งบกรมเจ้าท่า)  ท่าเรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(งบกรมเจ้าท่า) ท่าเรือเอกชน คือท่าเรือโชคชัย  ท่าเรือยูโสปอินเตอร์เนชั่นแนล  ท่าเรือแสงทองขนส่งปูนซิเมนต์

 

ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองกันตัง มีประชากรตามทะเบียนประมาณ 12,000คน มาหลายสิบปีแล้ว แต่ประชากรแขวงนั้นมีจำนวนมากหรือน้อยตามเศรษฐกิจกลุ่มอาชีพประมง  ตนเองก็มีนโยบายพัฒนาเมือง  ปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองกันตัง ให้น่าอยู่อีกทั้งเป็นอีกทางเลือกของนักเดินทางมาเพื่อการท่องเที่ยว  กรมโยธาธิการก็จัดงบมาพัฒนาริมแม่น้ำตรังงบ 73ล้านและ พัฒนาเกาะเนรมิตอีก 33 ล้าน เทศบาลจะจัดงบประมาณปรับปรุงผิวจราจรในเขตเทศบาล    ปรับปรุงควนตำหนักจันทร์ซี่งเป็นประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพทหารที่แห่งนี่  และสถานที่อื่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่งบประมาณที่ได้มายังเมืองกันตังมันน้อยเกินไปที่จะนำมาพัฒนาเพื่อฟื้นเมืองแห่งนี้

นายลือพงษ์    อ๋องเจริญ ประธานกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

ด้านนายลือพงษ์    อ๋องเจริญ ประธานกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ได้ร่วมกับนายสรนนท์   จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองกันตัง กำหนดนโยบาย " นำเมืองท่ากันตัง สู่ เมืองท่องเที่ยวทางทะเล " ภายใต้ยุทธศาสตร์ :พัฒนาเมืองเก่ากันตัง(Vintage town) ให้เป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งทะเลอันดามัน ด้วยยุทธวิธี( tactics) ดังนี้

 

สร้างสะพานท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวมารีน่าชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง อ.กันตังโดยการปรับปรุงท่าเทียบเรือพาณิชย์(ท่าเทียบเรือต่างประเทศ) นำมาปรับปรุงเป็นท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวมารีน่าชุมชน จังหวัดตรัง โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวมารีน่าชุมชน จังหวัดตรัง บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง ได้มีหนังสือถึงนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลกรมเจ้าท่า  เรื่อง ขอวิศวกร จากกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า มาออกแบบท่าเทียบเรือดังกล่าวข้างต้น

 

วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการสร้างสะพานท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวมารีน่าชุมชน เพื่อใช้เป็นฐานในการกระจายนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวตามเกาะต่าง ๆฝั่งทะเลอันดามัน การเข้าถึงสะพานแห่งนี้สะดวกและรวดเร็วเนื่องจากอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติตรัง เดินทางเพียง 20 กิโลเมตรถึงสะพานท่าเทียบเรือ  สะพานท่าเทียบเรือแห่งนี้มีศักยภาพสูงในการเชื่อมทะเลอันดามันทั้งหมด รวมทั้งเกาะต่าง ๆใน ทะเลจังหวัดตรัง ตลอดจนเชื่อมโยงเกาะ เกาะบุโหลนและเกาะหลีเป๊ะจังหวัดสตูล  เกาะไหง เกาะรอก เกาะลันตา จ.กระบี่

 

ยุทธวิธี( Method) บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง แพลตฟอร์ม แอ่งใหญ่ ( เมืองเก่ากันตัง)  เชื่อม  แอ่งเล็ก (10 ตำบลของอำเภอกันตัง)  โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นด้วยการกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวและโปรแกรมนำเที่ยวเชื่อมโยงจากแอ่งใหญ่ (เมืองเก่ากันตัง)

 

รายได้จากการท่องเที่ยวในอำเภอกันตังดังนี้ 1.ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองกันตังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้รายได้ในเขตเทศบาลเมืองกันตังกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  2.ผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่น( แอ่งเล็ก 10 ตำบล)นักท่องเที่ยวที่นิยมการท่องเที่ยววิถีเล และท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวต่อในชุมชน ส่งผลให้ผู้ประกอบการโฮมสเตย์ ร้านอาหาร เรือนำเที่ยว รถซาเล้ง ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ   1.เมืองเก่ากันตัง(Vintage town) สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย มีทั้งสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีหลุมหลบภัยกองทัพญี่ปุ่นบนควนตําหนักจันทร์ มีรถไฟสายอันดามันซึ่งเป็นโบราณสถานที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนั้นยังมีบ้านพักพระยารัษฎาอีกด้วย    

 

2.สังคมอำเภอกันตังเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมของศาสนาคริสต์ อิสลาม และพุทธ ตลอดจนเป็นชุมชนของชาวจีนโพ้นทะเล  3.ทำเลที่ตั้งเมืองเก่ากันตังอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติตรังการเข้าถึงสะดวกรวดเร็ว   4.เมืองเก่ากันตังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์มีทั้งแม่น้ำตรังและทะเลซึ่งเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังโซนทะเล  

 

5. อำเภอกันตังปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน มีกิจกรรมต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆของชุมชนไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อน  

 

อำเภอกันตังจะเป็นแม่เหล็กตัวใหญ่(Megnatic)ของจังหวัดตรังในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดตรังในโอกาสต่อไป ธุรกิจการท่องเที่ยวในอำเภอกันตังจะเกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อำเภอกันตังเพิ่มมากขึ้นทุกปี

นายธีรวัฒน์  หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง

ขณะที่นายธีรวัฒน์  หวังศิริเลิศ ประธานหอการค้าตรัง เปิดเผย นสพ.ฐานเศรษฐกิจว่า “เมืองกันตังหรือจังหวัดตรังเราต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรและประมง เพื่อสอดรับกับสภาพพื้นที่ที่ทำการเกษตรคือสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางก็โรงงานแปรูปไม้ยางพารา โรงงานน้ำยางข้น ขี้เลื่อยอัดเม็ดเป็นเชื้อเพลิง

 

ยกระดับผลิตภัณฑ์ขึ้นมาก็คือโรงงานถุงมือยาง หรืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำยาง ยางพาราเป็นวัสดุในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของยางพารา คือต้องตั้งโรงงานในอ.กันตัง จ.ตรัง เมื่อผลิตสินค้าส่งออกทางเรือ กันตังก็มีท่าเรืออยู่แล้ว

 

ส่วนอาชีพประมง ที่ไม่เฟื่องฟูเหมือนอดีตนั้น เป็นเพราะสัตว์น้ำในทะเลลดลงอีกทั้งกฎระเบียบทางราชการทำให้ผู้ประกอบการอาชีพประมงอยู่ไม่ได้เลิกอาชีพนี่ไปกันเป็นจำนวนมาก หากจะฟื้นอาชีพประมงดูจะยาก เว้นแต่ภาครัฐแก้ไขกฎระเบียนลงเพื่อให้ผู้ประกอบการประมงสามารถทำอาชีพนี่ได้

 

เห็นด้วยกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง ผลักดันเพื่อให้มีการทุ่มงบประมาณมาเพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียนจาก อ.กันตังไปอ.หาดสำราญ เพื่อย่นระยะทางกว่า 60 กิโลเมตรจุดตรงนี่นอกจากจะย่นระยะ ทางการขนส่งสินค้าเกษตร ประมงแล้ว ยังเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เปิดเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยว จาก อ.กันตัง หรือ อ.หาดสำราญ ไปยัง เกาะบุโลหน เกาะหลีเป๊ะ สตูล อีกเส้นทางหนึ่ง

 

ประธานหอการค้าตรัง กล่าวอีกว่า”ในตัวเมืองกันตัง ต้องกลับมาพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อขายประวัติศาสตร์ แต่ต้องปรับภูมิทัศน์เมืองให้น่าอยู่ น่าเที่ยว สะอาดปลอดภัย เพราะกันตังมีประวัติศาสตร์ที่นักท่องเที่ยว ยังไม่รู้หรือเห็นถึงความสำคัญครั้งในอดีต ดังนั้น คนหนุ่มรุ่นใหม่จะต้องพัฒนาภาคการท่องเที่ยวให้เมืองกันตังแห่งนี้กลับฟื้นขึ้นม าเพื่อขายประวัติศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมเมืองกันตัง เมืองวินเทจแห่งฝั่งอันดามัน 

 

ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน