ค้าโลกแบ่งขั้ว-การเมืองแบ่งข้าง-คาร์บอนวอร์ ท้าทายส่งออกไทย 9 ล้านล้าน

14 พ.ค. 2565 | 01:47 น.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Thailand’s Strategy : การค้าสู่ความยั่งยืนในเวทีโลก” ในงานสัมมนา ZERO CARBON วิกฤติ-โอกาสไทยในเวทีโลก จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (11 พ.ค.65)

 

ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ภาคการส่งออกไทยยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในปี 2564 แม้ว่าไทยจะเผชิญกับวิกฤติต่าง ๆ แต่การส่งออกยังขยายตัวถึง 17.1% สูงสุดในรอบ 11 ปี ทำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าส่งออกขยายตัว 4% ซึ่ง 3 เดือนแรก ขยายตัว 15% นำเงินเข้าประเทศ 2.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นคาดทั้งปีนี้ส่งออกไทยจะทำได้ที่ 9 ล้านล้านบาท โดยเดือนมีนาคมขยายตัว 20% เงินเข้าประเทศเดือนเดียว 9.2 แสนล้านบาทสูงสุดรอบ 30 ปี

 

ค้าโลกแบ่งขั้ว-การเมืองแบ่งข้าง-คาร์บอนวอร์ ท้าทายส่งออกไทย 9 ล้านล้าน

 

 

อย่างไรก็ดี ถัดจากนี้การส่งออกไทยมีแนวโน้มจะเผชิญความยากลำบากมากขึ้น จากจะมีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นที่เราต้องพลิกให้เป็นโอกาสในอนาคตเกิดขึ้น เรื่องที่ 1 โลกจากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิมจากมีการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ และการแบ่งขั้วทางการค้า ซึ่งการแบ่งขั้วทางการเมืองกับการค้า เศรษฐกิจจะถูกมัดรวมกันอย่างแยกกันไม่ออก โลกจะถูกบังคับแบ่งขั้ว แบ่งค่าย เลือกข้างมากขึ้น ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ

 

"ตรงนี้คือความยากในการทำการค้าถัดจากนี้ไปในอนาคต โลกจะไม่ใช่เฉพาะค่ายสหรัฐฯ กับจีนที่ทำสงครามการค้ากัน แต่จะมีรัสเซีย มีอินเดีย และประเทศอื่น ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เช่นจะมี Chindia หรือจีนบวกอินเดีย ที่มีจำนวนประชากร และขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของโลกจะเข้ามีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจของเอเชียและโลกมากขึ้น"

 

ภูมิรัฐศาสตร์ตรงนี้ นักธุรกิจและภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะมองข้ามไม่ได้ ประเทศไทยจะต้องอยู่รอด และฝ่าวิกฤติการแบ่งขั้ว และแบ่งค่ายทางการเมือง เศรษฐกิจของโลกต่อไปให้ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ไม่เช่นนั้นภาคส่งออกเราจะโตต่อไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดไทยต้องยืนให้ถูก ยืนให้เป็น อย่างน้อยต้องจับมือกับอาเซียนผนึกกำลังกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองเข้มแข็งขึ้นในเวทีการเมือง และการค้าโลก

 

ค้าโลกแบ่งขั้ว-การเมืองแบ่งข้าง-คาร์บอนวอร์ ท้าทายส่งออกไทย 9 ล้านล้าน

 

เรื่องที่ 2 ที่เป็นความท้าทายใหญ่สำหรับการส่งออกไทยและของโลกในอนาคตคือ เงื่อนไขกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ภาษีจะเกิดมากขึ้น สัญญาณเตือนคือ คำประกาศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่เรียก European Green DEAL ซึ่งประกาศในปี 2020 มีเป้าหมายเพื่อทำให้เศรษฐกิจของอียูให้มีความยั่งยืนด้วย Green Economy และมีมาตรการ CBAM ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดกลไกในการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของอียูอันนี้คือความท้าทายใหม่ที่โลกและประเทศที่อาศัยตลาดอียูรวมถึงไทยต้องตระหนักและเร่งปรับตัว

 

ค้าโลกแบ่งขั้ว-การเมืองแบ่งข้าง-คาร์บอนวอร์ ท้าทายส่งออกไทย 9 ล้านล้าน

 

“อียูได้ประกาศปี 2026 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า จะเก็บภาษีคาร์บอนที่ข้ามพรมแดนเข้าสหภาพยุโรป เบื้องต้น 5 รายการ ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย ซีเมนต์ บริการด้านไฟฟ้าพลังงาน ซึ่งอย่างน้อย 2 ตัวแรกที่ไทยจะกระทบมาก เพราะเหล็กเราส่งออกไปสหภาพยุโรป 68% และอะลูมิเนียมคิดเป็น 30% ของตัวเลขการส่งออกสินค้า 5 รายการข้างต้นรวมกัน ซึ่งภาษีคาร์บอนจะคิดเป็นเงินยูโรต่อตันคาร์บอนนี่คือกติกาการค้าโลกยุคใหม่ที่เราหลีกไม่พ้น และต้องเผชิญ

 

และในอนาคตจะเพิ่มอีก 3 สินค้าที่อียูส่งสัญญาณมาแล้ว(จะมีการเก็บภาษีคาร์บอน) ได้แก่ 1.พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 2.ไฮโดรเจนซึ่งส่วนหนึ่งใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 3. ออร์แกนิกเคมีคอล เช่น แอมโมเนียที่ผสมอยู่ในปุ๋ย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องเตรียมการ เพราะคาดจะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาอีก

 

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเกือบทุกประเทศในโลกรวมทั้งไทย อาจจะเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคตเช่นกัน ประเมินว่าอาจมีเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหิน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ไทยต้องเตรียมพร้อม

 

ค้าโลกแบ่งขั้ว-การเมืองแบ่งข้าง-คาร์บอนวอร์ ท้าทายส่งออกไทย 9 ล้านล้าน

 

“มาตรการเหล่านี้จะกระทบทั้งการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องปลอดคาร์บอนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการด้วย ทางออก คือ ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือ ภาคการผลิตต่าง ๆ  ต้องเดินสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยากแต่เราไม่ทำไม่ได้ เพราะเราผลิตแล้วเราเหลือกินในประเทศ เราต้องส่งออก เราต้องมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาไม่งั้นเรายืนอยู่บนเวทีโลกไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ เราต้องเท่าทัน เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว”

 

อย่างไรก็ตามไทยก็ไม่ได้ช้า เราได้มีการเตรียมการในการสนองตอบในการพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสเช่น การที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายจะเดินหน้าไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และทำให้ประเทศไทยเป็นซีโร่ คาร์บอนในปี 2065  ซึ่งก็เร็วกว่าหลายประเทศ และได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก”

 

ค้าโลกแบ่งขั้ว-การเมืองแบ่งข้าง-คาร์บอนวอร์ ท้าทายส่งออกไทย 9 ล้านล้าน

 

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อม โดยมีนโยบาย  “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยได้ดูรูปแบบจากประเทศญี่ปุ่นในการทำให้สินค้าเกษตรไทยสามารถตอบโจทย์ของตลาดโลกที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจับมือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เอาภาคการผลิตกับภาคการตลาดอยู่ด้วยกัน

 

นอกจากนี้ยังมีการแยกหมวดสินค้าที่เป็นสินค้า BCG (Bio-Circular-Green)ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเดือนตุลาคม 2564 ถึงไตรมาสแรก ปี 2565 ทำตัวเลขส่งเสริมการส่งออกสินค้า BCG ได้ถึง 3,800 ล้านบาท เกินเป้า 7 เท่า มีผู้ประกอบการ 1,351 ราย โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต อาหารของคนรุ่นใหม่ อาหารเฉพาะ อาหารทางการแพทย์ เป็นต้น  และภาคการผลิตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชน โดย “รัฐหนุน เอกชนนำ”

 

ค้าโลกแบ่งขั้ว-การเมืองแบ่งข้าง-คาร์บอนวอร์ ท้าทายส่งออกไทย 9 ล้านล้าน