svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

สั่งคุมเข้มเฝ้าระวัง ควบคุม “โรคแซลโมเนลลา” ในสัตว์ปีก

13 พฤษภาคม 2565

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ไขข้อข้องใจ “โรคแซลโมเนลลา” ในสัตว์ปีก ละเอียดยิบ สั่งคุมเข้มเฝ้าระวัง ควบคุมกระบวนการผลิต ป้องผู้บริโภค แนะ เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์มีสัญลักษณ์ตรา “ปศุสัตว์ OK” หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ

 

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคแซลโมเนลโลซิส (Salmonellosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลลาสามารถพบได้ตามธรรมชาติ เชื้ออาศัยอยู่ในทางเดินอาหารและลําไส้ของสัตว์ต่างๆ เช่น นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คน และแมลง มีการกระจายและอาศัยอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยของโรคอาหารเป็นพิษจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบในคน ซึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ดิบ

 

สั่งคุมเข้มเฝ้าระวัง ควบคุม “โรคแซลโมเนลลา” ในสัตว์ปีก

 

หรือปรุงไม่สุก ไข่ดิบ ผลิตภัณฑ์ที่มีไข่ดิบ นมดิบหรือนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ไอศกรีม เนยแข็งและผักบางชนิด สามารถนำเชื้อก่อโรคจากสัตว์มาสู่คนหรือเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนได้ และการใช้น้ำที่สกปรกทางการเกษตรหรือใช้ล้างอาหารสดทำให้เกิดการปนเปื้อนข้ามได้เช่นกัน เพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนและคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร กรมปศุสัตว์จึงได้มีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคแซลโมเนลลาสำหรับสัตว์ปีกตลอดกระบวนการผลิตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ นั้น

 

สั่งคุมเข้มเฝ้าระวัง ควบคุม “โรคแซลโมเนลลา” ในสัตว์ปีก

 

การควบคุมและเฝ้าระวังโรคแซลโมเนลลาสำหรับสัตว์ปีก รวมหมายถึงนก ไก่ เป็ด ห่านที่เลี้ยงเพื่อการค้า ครอบคลุมทั้งสัตว์ปีกพันธุ์ สัตว์ปีกไข่ สัตว์ปีกเนื้อ และไข่ฟัก มีการสุ่มเก็บตัวอย่างโดยเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์และสถานที่ฟักไข่ การสุ่มเก็บตัวอย่างที่ฟาร์มสัตว์ปีกและฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อ เพื่อส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแซลโมเนลลาที่ห้องปฏิบัติการ ทำการรวบรวมและสรุปผลการตรวจวิเคราะห์ทุกเดือน

 

โดยสำหรับสัตว์ปีกพันธุ์และสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกมีการตรวจวิเคราะห์เชื้อ Salmonella Enteritidis, Salmonella Typhimurium, Salmonella Hadar, Salmonella Infantis และ Salmonella Virchow สำหรับสัตว์ปีกไข่และสัตว์ปีกเนื้อมีการตรวจวิเคราะห์เชื้อ Salmonella Enteritidis และ Salmonella Typhimurium ถ้ามีการตรวจพบเชื้อให้ทำการสอบสวนหาสาเหตุ เก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ยืนยันการพบเชื้อและหากยืนยันว่าพบเชื้อให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และทำการเฝ้าระวังเชื้อต่อไป

สั่งคุมเข้มเฝ้าระวัง ควบคุม “โรคแซลโมเนลลา” ในสัตว์ปีก

นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ มีการเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ปีก น้ำล้างซาก น้ำและน้ำแข็งที่ใช้ในโรงฆ่าสัตว์ สำหรับโรงแปรรูปเนื้อสัตว์มีการเก็บตัวอย่างอาหารปรุงสุกเพื่อตรวจวิเคราะห์เชื้อแซลโมเนลลาอีกด้วย

 

สั่งคุมเข้มเฝ้าระวัง ควบคุม “โรคแซลโมเนลลา” ในสัตว์ปีก

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันการติดเชื้อนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ โดยสามารถเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากแหล่งจำหน่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์มีสัญลักษณ์ตรา “ปศุสัตว์ OK” และหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เนื่องจากเชื้อนี้ถูกทำลายได้โดยความร้อน แนะนำให้รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงอาหารให้สุกโดยผ่านความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที

 

 

หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร การแยกอาหารดิบออกจากอาหารปรุงสุก และทำการเก็บรักษาในตู้เย็นอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าวได้ ส่วนผู้ประกอบอาหารหรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอาหารควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดและปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยในกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด

 

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ค้นหาได้ที่เว็ปไซต์ www.dld.go.th หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง