ตกขบวนเปิดด่านชายแดน ‘เชียงราย’ชวดรายได้หมื่นล้าน

13 พฤษภาคม 2565

จังหวัดเชียงรายตกขบวนเปิดด่านรับคนสัญจรล็อตแรก 31 ด่านใน 17 จังหวัดเมื่อ 1 พ.ค.ที่่ผ่านมา ทำพ่อค้าชายแดนท้องถิ่น ตลอดจนชาวบ้าน 2 พรมแดนทั้ง 3 ด่านของจังหวัด คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ที่มีมูลค่าการค้านับหมื่นล้านบาท เสียโอกาสการเปิดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ทีมงานโฆษกศูนย์บริหารสถาน การณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้แถลงว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เห็นชอบการเปิดด่านทางบก (จุดผ่านแดนถาวร) จำนวน 17 จังหวัด รวม 31 ด่าน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

โดยไม่มีจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีจุดผ่านแดนถาวรกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมาและสปป.ลาว รวม 3 จุดคือ แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก, เชียงแสน-เมืองต้นผึ้ง และเชียงของ-เมืองห้วยทราย

ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็กยังไม่เปิดรับคนสัญจรเข้าออก

ตกขบวนเปิดด่านชายแดน ‘เชียงราย’ชวดรายได้หมื่นล้าน

การจะไปชี้ว่า... ใครถูก-ใครผิด หรือใครประมาท-ชะล่าใจคงไม่มีประโยชน์ แต่ “ฐานเศรษฐกิจ” จะชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ด่านถาวรของเชียงรายทั้ง 3 แห่งไม่ได้เปิด

 

เริ่มจากชายแดนไทย-เมียนมา ทางด้านอ.แม่สาย จุดผ่านแดนถาวรเพียงแห่งเดียวระหว่างไทย-รัฐฉานตะวันออก แม้ว่าที่ผ่านมาจะเปิดให้มีการขนส่งสินค้าผ่านด่านพรมแดนแม่สาย (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2) แต่ว่านั่นเป็นรูปแบบการค้าที่เป็นทางการ

ตกขบวนเปิดด่านชายแดน ‘เชียงราย’ชวดรายได้หมื่นล้าน

ตกขบวนเปิดด่านชายแดน ‘เชียงราย’ชวดรายได้หมื่นล้าน

ส่วนการค้าชายแดนแบบไม่เป็นทางการ คือการที่มีประชาชนในเมืองท่าขี้เหล็ก และเมืองต่างๆ ในรัฐฉานตะวันออก หลายคน ยอมขับรถข้ามเขาข้ามดอยมาหลายร้อยกิโลเมตร จากเชียงตุง เมืองยอง เมืองลาเซียว ผ่านด่านเข้ามาจับจ่ายซื้อหาสินค้าที่ตนเองต้องการในฝั่งอ.แม่สาย แล้วนำติดตัวใส่รถยนต์ส่วนตัว หรือรถสามล้อรับจ้าง ข้ามด่านกลับไป มีเป็นจำนวนมากในภาวะปกติ

 

ทำให้ร้านค้าในตลาดอ. แม่สายคึกคัก ตลอดจนห้างค้าปลีก ค้าส่ง 2 แห่ง ในตัวเมืองแม่สาย ซึ่งสามารถทำยอดขายขึ้นเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ ช่วงพีคๆ มียอดขายเฉลี่ยเกินกว่าวันละ 15 ล้านบาท หรือเดือนละนับ 1,000 ล้านบาท ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่หอบเงินวันละอีกหลายๆ ล้านบาท ข้ามไปจับจ่ายซื้อหาสินค้าในตลาดท่าล้อ แหล่งช็อปปิ้งยอดนิยมของคนไทยริมแม่นํ้าสายฝั่งท่าขี้เหล็ก

ตกขบวนเปิดด่านชายแดน ‘เชียงราย’ชวดรายได้หมื่นล้าน

ซึ่งเจ้าของร้านค้าสถานประกอบการต่างๆ ในฝั่งท่าขี้เหล็ก มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่เป็นคนไทย ช่วงวันหยุดยาวในฤดูหนาว ว่ากันว่าจำนวนเงินที่สะพัดในเมืองแฝดแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เฉลี่ยแล้ววันละหลายร้อยล้านบาท ยังไม่รวมรายได้ที่เกิดจากการเดินทางไปท่องเที่ยว ตามเส้นทางเชียงราย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้ง ชาวไทยและชาวต่างชาติ

 

ส่วนชายแดนไทย-ลาว ทางด้านอ.เชียงแสน การเติบโตของเมืองใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่เมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม นำมา ซึ่งเม็ดเงินที่ได้จากการส่งออกสินค้า จากฝั่งเชียงแสนเป็นจำนวนมาก เพราะการสร้างเมืองใช้วัสดุก่อ สร้างจากฝั่งไทย ยิ่งในช่วงที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำกำลังเร่งงานการก่อสร้างสนามบิน เหล็กเส้น-ปูนซีเมนต์ มีการขนส่งข้ามโขงไปวันละหลาย ๆ เที่ยว

 

จุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาวที่เชียงแสนไม่เปิด ทำให้สินค้ายังต้องไปข้ามที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ แล้วใส่รถบรรทุกขนย้อนขึ้นมาที่เมืองต้นผึ้ง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเชียงแสน 

 

ภาวะปกติช่วงพีค ๆ การส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน มูลค่าเฉลี่ยแต่ละเดือนนั้นมากถึง 2,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ชายแดนไทย-ลาวทางด้านอ.เชียงของ เนื่องจากการขนส่งสินค้าต่างๆ ยังทำกันที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ได้ แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว มีสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่ส่งออกผ่านท่าเรือผาถ่าน จุดผ่อนปรนกลางเมืองเชียงของ มูลค่าการค้าชายแดนตามท่านํ้าต่าง ๆ ในแม่นํ้าโขงจึงมีอยู่ไม่น้อย

 

ด่านถาวรเชียงของไม่ได้เปิดที่กระทบหนักคือเรื่องของการท่องเที่ยว โดยการเดินทางจากเชียงรายเพื่อไปสู่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ผ่านเส้นทางแม่นํ้าโขงนั้น เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โอกาสที่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจึงสูญเสียไป

 

ยังไม่รวมถึงความพยายามที่น้อยไปของรัฐบาลไทย ทั้งกระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร ทำให้โอกาสที่สินค้าไทยจะไปบุกตลาดจีน ผ่านเส้นทาง R3a (ไทย-ลาว-จีน) ลดน้อยลงไปด้วย

 

บวกกับการปิดท่าเรือกวนเหล่ย ท่าเรือขนส่งสินค้าของจีนตอนใต้ริมฝั่งแม่นํ้าโขง ทำให้การค้าระหว่างไทย-จีนผ่านกองเรือพาณิชยนาวีแม่นํ้าโขง ที่มีมูลค่าเดือนละหลายพันล้าน เช่นเดียวกันกรณีจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ย ยังไม่เห็นความพยายามของรัฐบาลไทย ที่จะไปเจรจากับทางการจีนเพื่อหาทางแก้ไข

 

นอกจากนั้น ภาครัฐของเชียงรายก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก MOU บ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) เพื่อแก้ไขปัญหาการที่ด่านถาวร 3 แห่งของเชียงรายยังไม่ได้เปิด จึงเป็นการสูญเสียโอกาสสร้างรายได้นับหมื่นล้านบาท

 

ชัยณรงค์ สีนาเมือง/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,782 วันที่ 12-14 พฤษภาคม พ.ศ.2565