องคมนตรีฯ ติดตามโครงการพระราชดำริ "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ" จ.ชัยภูมิ

09 พ.ค. 2565 | 10:23 น.

"จรัลธาดา กรรณสูต และ อำพน กิตติอำพน องคมนตรีฯ" ติดตามโครงการพระราชดำริ "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ" ชุบชีวิตคนลุ่มน้ำชี

โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เป็น 1 ใน 5 โครงการฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยรอบพื้นที่ราบเชิงภูเขียว

 

ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ขนาดความจุเก็บกักน้ำ 46.90 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่ประชาชนใช้ในการเพาะปลูก

 

โดยสามารถส่งน้ำในช่วงฤดูฝนได้ถึง 40,000 ไร่ ฤดูแล้ง 28,000 ไร่ และเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ใกล้เคียงเป็นการรักษาระบบนิเวศอีกด้วย และยังเป็นหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นอาหารโปรตีนของประชาชนต่อไป

องคมนตรีฯ ติดตามโครงการพระราชดำริ "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ" จ.ชัยภูมิ

นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ

 

พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

 

โอกาสนี้ได้ร่วมพิจารณาเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ และการต่อยอดขยายผลให้โครงการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชน ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

องคมนตรีฯ ติดตามโครงการพระราชดำริ "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ" จ.ชัยภูมิ

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า "การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำชี  กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ด้วยการเลื่อนพื้นที่โครงการฯ จากจุดเดิมออกไป 3 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ป่า และยังได้พื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นอีก  

 

ซึ่งจังหวัดชัยภูมิอยู่ต้นน้ำแม่น้ำชี หน้าฝนน้ำท่วม หน้าแล้งขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ต้นน้ำ จะสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำประมาณ 243 ล้านลูกบาศก์เมตร มีจำนวน 3 โครงการฯ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีก 2 โครงการฯ เป็นโครงการตามแผนงานของกรมชลประทาน

องคมนตรีฯ ติดตามโครงการพระราชดำริ "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ" จ.ชัยภูมิ

ส่วนกลางน้ำ มีการชะลอน้ำโดยก่อสร้างประตูระบายน้ำ 5 แห่ง ควบคู่กับแก้มลิงเพื่อหน่วงน้ำช่วงน้ำหลากและเก็บกักไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร” นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  กล่าว 

 

ด้านนายเฉลิม สมัตถะ เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ กล่าวว่า "ดีใจที่มีโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง มีประโยชน์ต่อชาวบ้านมาก โครงการฯ ไม่ได้ทำลายป่า เป็นพื้นที่ของเกษตรกร ส่วนมากเป็น สปก. ไม่ใช่โฉนด ไม่ใช่ นส.3 พอสร้างเสร็จผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือทุกคนในพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม มีน้ำทำการการเกษตรได้ทั้งปี ทั้งหน้าแล้ง และหน้าฝน เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงส่งที่พระองค์เห็นความสำคัญของเกษตรกร

 

ก่อนหน้านี้คิดว่าจะไม่ได้โครงการฯ ตอนนั้นทุกคนจะถอยหมดแล้ว ผู้นำหมู่บ้านก็ถอยเพราะสู้กับปัญหาการกระทบกับป่าไม้ไม่ได้ ในที่สุดทุกคนเห็นด้วยว่าเปลี่ยนพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ มาใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ราษฎรถือครอง จึงได้เกิดโครงการฯ และก็ได้น้ำมากกว่าที่จะสร้างในตอนแรกด้วย  ชาวบ้านทุกคนรู้สึกดีใจมาก” นายเฉลิม สมัตถะ กล่าว

องคมนตรีฯ ติดตามโครงการพระราชดำริ "อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ" จ.ชัยภูมิ

ส่วน นางรุ่งนภา แสนสระ ราษฎร หมู่ที่ 13  ต. หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า "เมื่อก่อนมีน้ำเยอะแต่ไม่มีที่กักเก็บจึงไม่ได้ใช้น้ำเพราะจะไหลลงด้านล่างหมด เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชหมุนเวียน มีข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และข้าว แต่ก็ไม่มีน้ำ ได้โครงการฯ นี้มาช่วยเติมเต็มประชาชนจะมีน้ำใช้ น้ำกิน น้ำอาบ ก็ดีขึ้นไม่ต้องออกไปทำงานต่างประเทศหรือนอกบ้าน ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะทำการเกษตรแล้วได้ผลผลิตดี มีรายได้ ดีใจที่มีโครงการฯ จะได้มีน้ำใช้ตลอดปี

 

"ดีใจที่ได้เห็นโครงการฯ เป็นรูปเป็นร่าง ให้ลูกหลานได้เห็น มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ปลูกเมื่อได้น้ำก็จะให้ผลผลิตดี ที่นี่ปลูกส่งออกต่างประเทศรายได้ดี” นางรุ่งนภา แสนสระ กล่าว

 

ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงห่วงใยราษฎรที่ต้องประสบปัญหาในเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี

 

จึงพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำชีเมื่อปี 2539 สรุปความว่า “ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นห้วย หนอง บึง และพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลด น้ำที่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตามเดิม ให้พิจารณาหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่” 

 

และจากการลงพื้นที่เพื่อติดตามขับเคลื่อนโครงการฯ ขององคมนตรีและคณะในครั้งนี้ พบว่า โครงการมีความคืบหน้าตามเป้าหมายทุกประการ ประชาชนมีความพึงพอใจและพร้อมใจกันร่วมบริหารจัดการน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน