เคาะแล้ว "คมนาคม" ปักหมุด 2 ท่าเรือ สร้างแลนด์บริดจ์ 4 แสนล้าน

22 เม.ย. 2565 | 09:29 น.

"คมนาคม" เคาะตำแหน่ง 2 ท่าเรือ สร้างแลนด์บริดจ์ 4 แสนล้านบาท เตรียมเดินหน้าโรดโชว์เวทีระดับโลก เพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณสินค้า 20 ล้านทีอียู

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตาม ผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่า ขณะนี้ที่ปรึกษาได้นำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้า ได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยังแลนด์บริดจ์ รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่

เคาะแล้ว "คมนาคม" ปักหมุด 2 ท่าเรือ สร้างแลนด์บริดจ์ 4 แสนล้าน

ทั้งนี้ตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร - ระนอง โดยผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 400,000 ล้านบาท เมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.08 ล้านบาท หลังจากนี้ได้เร่งรัดเสนอคณะทำงาน บูรณาการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามันกับ แหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาในประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไป

"ได้มีข้อสั่งการให้ สนข. และที่ปรึกษา ศึกษาปริมาณสินค้าและแผนทางการพัฒนาความสามารถในการรองรับสินค้าของโครงการแลนด์บริดจ์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงการมีความน่าสนใจ และสามารถแข่งขันกับโครงการการพัฒนาท่าเรือในประเทศต่างๆ เช่น โครงการ East Coast Rail Link (ECRL) และโครงการมะละกาเกตเวย์ ในประเทศมาเลเซีย และโครงการดาราสาคร ในประเทศกัมพูชา รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และอุตสาหกรรมครบวงจร ได้แก่ เขตส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การธนาคาร การประกันภัย เป็นต้น เขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิตัล เขตอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม และเขตส่งเสริมการลงทุนปลอดภาษี รวมถึงให้พิจารณาข้อกฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินโครงการ เช่น การตรา พ.ร.บ. ฉบับใหม่สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยการขยายพื้นที่โครงการ และพิจารณาข้อจำกัดและแนวทางการดำเนินการของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562"

เคาะแล้ว "คมนาคม" ปักหมุด 2 ท่าเรือ สร้างแลนด์บริดจ์ 4 แสนล้าน

 

 สำหรับกรณีโครงการที่มีเจ้าของโครงการหลายหน่วยงาน เบื้องต้นได้เร่งรัดให้ สนข. จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียด เพื่อนำเสนอ Thai Landbridge Model ในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG 52) พร้อมเตรียมโรดโชว์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทั้งในระดับพื้นที่โครงการ และการประชาสัมพันธ์ไปสู่นักลงทุนต่างประเทศในช่องทางต่าง ๆ