ส่อง 6 ทำเล สร้างแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง 2.5 แสนล้าน

18 มี.ค. 2565 | 09:57 น.

สนข.เจาะ 6 ทำเล สร้างท่าเรือใหม่ 2 แห่ง อัพเกรดแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง 2.5 แสนล้านบาท เล็งชงคมนาคม-ครม.ไฟเขียว จ่อเปิดประมูลนานาชาติ ดึงเอกชนร่วมทุน

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร–ระนองว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกตําแหน่งท่าเรือที่เหมาะสม ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน โดยจากผลการศึกษาเบื้องต้น พื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสม พบว่า มีฝั่งละ 3 แห่ง ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย

 

 

 สำหรับทำเลที่ตั้งฝั่งละ 3 แห่ง ซึ่งเป็นทางเลือกเชื่อมท่าเรือ เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แบ่งเป็น ฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร ประกอบด้วย 1.แหลมประจําเหียง 2.แหลมริ่ว 3.แหลมคอเขา ส่วนฝั่งอันดามัน จ.ระนอง ประกอบด้วย 1.เกาะตาวัวดํา 2.เกาะสน 3.แหลมอ่าวอ่าง โดยในแต่ละแห่งนั้น มีทั้งข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน

 

 

ทั้งนี้ สนข. เตรียมสรุปผลการศึกษารูปแบบเบื้องต้นเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมฯ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะต้องมีการพิจารณาพื้นที่มรดกโลก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

ขณะเดียวกัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้มอบหมายให้ สนข. เตรียมรายละเอียดของโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อนำเสนอในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG 52) ในวันที่ 14-16 ก.ย. 2565 พร้อมทั้งเตรียม Road Show ทั้งในและต่างประเทศ หรือสถานฑูตต่างๆ ตั้งแต่ มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

 

 

 

สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นั้น สนข. จะศึกษารูปแบบการดำเนินการจบภายในปี 2565 จากนั้นในปี 2566 จะเขัาสู่กระบวนการวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) พร้อมทั้งจัดทำเอกสาร ควบคู่กับการจัดทำรายวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่า การศึกษาทั้งโครงการฯ จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 ก่อนที่จะหาตัวผู้รับจ้างในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2568 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573

 

 

 

 

 ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะเป็น PPP รูปแบบประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) วงเงินลงทุนประมาณ 250,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมาย เนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์ จะการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้นแบบ (Model) โดยมีการออกกฎหมายโดยเฉพาะ หรือออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แลนด์บริดจ์ รวมทั้งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้วย

ขณะที่สัดส่วนการลงทุนนั้น จะกำหนดให้เอกชนต่างชาติ สามารถถือสัดส่วนได้เกิน 50% และต้องมีสัดส่วนของนักลงทุนชาวไทยเป็นพันธมิตรร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีการห้ามนักลงทุนชาวไทยแต่อย่างใด ส่วนความคุ้มค่าในการลงทุนนั้น สนข. ได้ให้โจทย์การศึกษากับบริษัทที่ปรึกษาว่า จะดำเนินการอย่างไรให้คุ้มทุน เบื้องต้น นอกจากจะมีการลงทุน 2 ท่าเรือ รวมถึงมอเตอร์เวย์ และระบบรางแล้ว จะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยระยะเวลาการให้สัมปทาน จะใกล้เคียงกับพื้นที่ EEC

 

 

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง

 

 

 

 อย่างไรก็ตามจากการศึกษามีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสินค้าเข้ามาในแลนด์บริดจ์ มากถึงกว่า 20 ล้าน TEUs จากการรองรับได้ 40 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกง ที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยแลนด์บริดจ์ จะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก