ท่าเรือนํ้าลึกใหม่อินเดีย  แจ้งเกิดแลนด์บริดจ์ ‘ระนอง’

08 เม.ย. 2565 | 03:56 น.

ระนองลุ้น อินเดียเปิดใช้ท่าเรือนํ้าลึกแห่งใหม่ทางตอนใต้สุดปลายปีนี้ หนุนแผนยุทธศาสตร์ แลนด์บริดจ์อ่าวไทย- อันดามัน สร้างความคึกคักการเชื่อมโยงการค้าทางทะเลข้ามทวีป เส้นทางตะวันออก-ตะวันตก เปิดฐานผลิตใหม่อ่าวเบงกอล ท่าเรือนํ้าลึกระนองติดปม “พื้นที่มรดกโลก”

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ รายงานล่าสุดจากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ว่า ทางการอินเดียมีกำหนดจะเปิดใช้ท่าเรือนํ้าลึกนานาชาติแห่งใหม่ (Vizhinjam International Deepwater Multi purpose Seaport) ในเมืองธิรูวาฅนันทปุรัม รัฐเกรละ ตอนใต้สุดของอินเดีย ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งจะเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของอินเดีย เพื่อส่งออกไปตะวันออกกลาง

 

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า แผนเปิดท่าเรือนํ้าลึกแห่งใหม่ของอินเดีย นับเป็นข่าวดีของระนอง ที่ทำให้เห็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่ชัดเจนขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง ศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างเอเซียตะวันออก กับตะวันออกกลาง-ยุโรป ที่การเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาใกล้เต็มศักยภาพ

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง

 

ท่าเรือนํ้าลึกใหม่อินเดีย  แจ้งเกิดแลนด์บริดจ์ ‘ระนอง’

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูล รวมถึงไปสำรวจลู่ทาง และพบปะกับนักธุรกิจในเมืองธิรูวานันทปุรัม โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่มีอยู่จำนวนมากในรัฐนี้ เพื่อเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรในการเปิดตลาดในอินเดียใต้ รวมถึงการนำสินค้าไทยไปต่อยอดการผลิตและส่งออกไปยังตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปเช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิว และภาชนะ บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ

 

ท่าเรือ Vizhinjam มีเป้าหมายเป็นท่าเรือหลักของการขนส่งสินค้าระหว่างทวีป เพื่อการเชื่อมโยงการผลิตและการค้าระหว่างตะวันออก กลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (East-West Shipping Route) สินค้าที่คาดว่าจะใช้ประโยชน์จากท่าเรือใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อส่งออกไปยังตลาดในตะวันออกกลาง  

 

นอกจากนี้ยังจะเกิดเมืองท่าแห่งใหม่ การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม (Special Economic Zones) ที่พักอาศัย คลังสินค้า ย่านการค้าและความต้องการใช้บริการต่างๆ ตามมาซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจบริการก่อสร้างและตกแต่งจากไทย รวมทั้งบริการโลจิสติกส์สินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าฮาลาลไปยังตลาด GCC ที่มีกำลังซื้อสูง ผ่านผู้ประกอบการในรัฐเกรละที่มักมีเครือข่ายอยู่ในตะวันออกลาง

 

ส่วนความคืบหน้าการศึกษาแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง นายนิตย์กล่าวว่า ว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Deve lopment Model) โดยเบื้องต้นได้คัดเลือกทำเลที่จะพัฒนาท่าเรือนํ้าลึก ฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยแล้ว เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยกำหนดให้ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน อยู่ที่บริเวณอ่าวอ่าง อ.เมืองระนอง

ท่าเรือนํ้าลึกใหม่อินเดีย  แจ้งเกิดแลนด์บริดจ์ ‘ระนอง’

เนื่องจากจังหวัดระนองมีพื้นที่อุทยาน และมีประเด็นเรื่องการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้น จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขึ้นมาหารือในประเด็นดังกล่าวร่วมกันก่อน เพราะคงไม่สามารถดำเนินการเรื่องมรดกโลกไปพร้อมกับการพัฒนาแลนด์บริดจ์ได้

 

“กระทรวงคมนาคมและทส. ต้องร่วมกันพิจารณาว่าจะเดินหน้าแลนด์บริดจ์ก่อน หรือจะเอามรดกโลกก่อน แนวโน้มที่คาดว่าจะเหมาะสมคือ ให้เดินหน้าแลนด์บริดจ์และชะลอเรื่องมรดกโลกไว้ก่อน ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ”

 

ท่าเรือนํ้าลึกใหม่ระนอง จะอยู่ที่บริเวณอ่าวอ่าง รอยต่อของ อ.เมืองระนอง กับ อ.กะเปอร์ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง กับอุทยานแห่งชาติแหลมสน เป็นป่า ชายเลนผืนใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์อยู่ระหว่างเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การฅยูเนสโก ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องประเมินความคุ้มค่า ผลดีผลเสีย

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระทรวงคมนาคมอาจจะเสนอให้ทางทส.ปรับโซนพื้นที่มรดก เช่น ถอดพื้นที่บางส่วนออก หรือกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลกได้หรือไม่ เนื่องจากหากมรดกโลกครอบคลุมอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง กับอุทยานแห่งชาติแหลมสน จะมีระยะกันชน (บับเบิลโซน) ประมาณ 3 กม. ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกได้ 

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,772 วันที่ 7-9 เมษายน พ.ศ 2565