‘ระนอง’ ชูกลยุทธ์พ่วงภูเก็ต ปั้นย่านท่องเที่ยวสุขภาพอันดามัน

21 มี.ค. 2565 | 08:09 น.

 “ระนอง” ขอเอี่ยวภูเก็ต เดินหน้าแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันดามัน ชูจุดขาย “น้ำแร่ร้อน” ยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก


 นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่ จ. ระนอง ชู “น้ำแร่” ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าอยู่ กว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพียงการพัฒนาในพื้นที่เล็กๆน้อยๆ ไม่สามารถยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแม้ในระดับภูมิภาค ในอาเซียน

 

อย่างไรก็ดี หลังจากการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก เพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์มูลค่าสูงเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนานาชาติ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เริ่มหันมานิยมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น

‘ระนอง’ ชูกลยุทธ์พ่วงภูเก็ต ปั้นย่านท่องเที่ยวสุขภาพอันดามัน


 โดยเฉพาะภายหลังการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งยังสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรของโลกที่มีกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น ส่งผลให้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของระนองกลับมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ในรูปแบบที่ต้องพยายามที่จะเคลื่อนไปพร้อมๆกับภูเก็ตให้ได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จ.ภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก สามารถหนีบระนองให้เข้าสู่ระบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่อาจจะเป็นเมืองรองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อจากภูเก็ตได้

 

สำหรับการดำเนินการของ จ.ภูเก็ต ตามแผนที่รัฐกำหนดไว้ คือจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (International Health/Medical Plaza), ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care), ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคอง ในระยะสุดท้ายของชีวิต และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center)

 

โดยศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร จะใช้ที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ 141 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ดำเนินการโดย โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยรูปแบบการบริหารจัดการยังอยู่ระหว่างหารือซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งรัฐอาจดำเนินการเองทั้งหมด การร่วมทุนกับภาคเอกชน หรือรูปแบบพิเศษ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ปี 2566-2569

 

“ระนองจึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดใหม่อีกครั้งให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และศักยภาพของพื้นที่ จากเดิมที่เน้นการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน แต่พบว่ายังมีปัจจัยปัญหา และอุปสรรค ในการดำเนินการ ซึ่งจะต้องอาศัยการขับเคลื่อนในระดับชาติ สู่ระดับที่จังหวัดขับเคลื่อนได้ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าอยู่ ศูนย์กลางการค้าชายแดนฝั่งอันดามัน ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์กำหนดเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลักประกอบด้วยเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,เมืองน่าอยู่,ศูนย์กลางการค้าชายแดนฝั่งอันดามัน และเศรษฐกิจที่มั่นคงกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม”

 

เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้สู่เป้าหมายทางจังหวัดได้กำหนดพันธกิจดังนี้ พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดระนองสู่มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฟื้นฟู รักษา ทรัพยากรธรรมชาติสู่ความสมดุลของระบบระบบนิเวศน์
อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้จังหวัดระนองเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนฝั่งอันดามัน การเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

โดยมีเป้าประสงค์ดังนี้จังหวัดระนองมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถแข่งขันได้ทั้งภายในและต่างประเทศ, ทรัพยากรธรรมชาติมีความสมดุล อุดมสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมน่าอยู่,สังคมเข้มแข็ง มั่นคง ปลอดภัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก,การค้าชายแดนขยายตัวและมีประสิทธิภาพ,เศรษฐกิจที่มั่นคงและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม,การบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

 

ที่ผ่านมาทางจังหวัดระนองได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง, เทศบาลเมืองระนอง,หอการค้าจังหวัดระนอง,สมาคมธุรกิจการ
ท่องเที่ยว จ.ระนอง,สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง ร่วมกันวางกรอบ และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำแร่ร้อนในเขตพื้นที่จังหวัดระนอง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่กำหนดให้จังหวัดระนองเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งยังสานแผนการพัฒนาแหล่งท่อเที่ยวประเภทน้ำแร่ร้อนเพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกในอนาคต

 

“จังหวัดระนองมีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวสูง แต่ที่ผ่านมายังขาดการพัฒนาและการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันนอกจากบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ที่ทาง ททท.และเทศบาลเมืองระนอง ได้ร่วมกันพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแล้ว กำลังผลักดันแหล่งท่องเที่ยวน้ำแร่ร้อนบริเวณบ่อน้ำแร่ร้อนบ้านพรรั้ง ต.บางริ้น อ.เมืองระนองอีก 1 แห่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว”

 

แต่การดำเนินการทั้งหมดที่ทำได้ยังไม่สามารถที่จะยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,767 วันที่ 20 - 23 มีนาคม พ.ศ. 2565