นายกฯ ห่วงสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน สั่ง เกษตร-พาณิชย์ จัดหาให้เพียงพอ

24 มี.ค. 2565 | 12:20 น.

นายกรัฐมนตรี เผยผ่านเฟซบุ๊ก ระบุห่วงใยสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลนเนื่องจากใกล้เริ่มฤดูกาลเพาะปลูก สั่ง ก.เกษตรฯ-พาณิชย์ จัดหาให้เพียงพอ เน้นย้ำ ราคาปุ๋ยต้องเป็นราคาที่เกษตรกรรับภาระได้

จากปัญหาสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดและปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" มีใจความ ดังนี้

พี่น้องประชาชนชาวที่รักครับ

ผมมีความห่วงใยกับสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน เนื่องจากใกล้เริ่มฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว จึงได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ สำรวจปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในสต๊อก และการจัดหาปุ๋ยเพิ่มเติมให้เพียงพอ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันผมทราบดีว่าพี่น้องประชาชนประสบกับหลายปัญหาในเวลาเดียวกัน เป็นผลมาจากโควิดและซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ส่งผลกระทบหลายเรื่อง ทั้งพลังงาน ราคาสินค้า การขาดแคลนวัสดุ ต้นทุน เงินเฟ้อ การกักตุนสินค้า ฯลฯ โดยขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการด้านพลังงาน และมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ที่ได้รับความเดือดร้อนไปบ้างแล้ว ตามกำลังที่มีอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องพุ่งเป้าเฉพาะกลุ่ม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ หรือสร้างความเดือดร้อนจนเกินไปนัก 

สำหรับเรื่องปุ๋ย ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อหาหนทางนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด โดยราคาอาจจะต้องแพงขึ้นบ้าง รัฐบาลก็มีแนวคิดว่าเราจะช่วยกันอย่างไรได้บ้าง เช่น ใช้มาตรการทางการเงิน ช่วยปล่อยเงินกู้พิเศษ เงินกู้ระยะยาว ดูแลเรื่องดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งผมได้มอบแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการปุ๋ยว่า

(1) ปุ๋ยจะต้องไม่ขาด รัฐบาลต้องหาปุ๋ยเพิ่มเติมจากต่างประเทศเข้ามาให้เพียงพอ

(2) ราคาปุ๋ยต้องเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถรับภาระได้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะอุดหนุนทั้งหมดก็จะเป็นการแบกภาระทางการคลังของประเทศมากจนเกินไป ในขณะที่รัฐบาลยังคงต้องบริหารงบประมาณและแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย

ดังนั้น แนวทางที่เป็นไปได้ คือ รัฐบาลจะหาแหล่งสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายย่อย โดยให้เกษตรกรรับผิดชอบตามราคาจริงที่ยอมรับได้ รัฐบาลกำหนดให้มีระยะเวลาผ่อนผัน (Grace period) ที่เกษตรกรไม่ต้องจ่ายต้นอย่างน้อย 2 ปี ประกอบกับรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระด้านดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ซึ่งผมได้กำชับว่า การดำเนินการตามมาตรการนี้ จะต้องไม่เปิดโอกาสให้มีบุคคล หรือกลุ่มใดเข้ามาหาผลประโยชน์ หรือนำเข้าปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ทั้งเรื่องปุ๋ย เรื่องพลังงาน ที่ราคาแพงขึ้น ผมได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงการต่างประเทศ ให้ประสานงานกับต่างประเทศว่า จะสามารถให้การสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง

รวมทั้งเรื่องดูแลการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและผลไม้ ที่มีปัญหาการส่งออกไม่สะดวก สินค้าตกค้าง คอนเทนเนอร์ไม่พอเพียง การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานที่ปลายทางเข้มงวดมากจากสถานการณ์โควิด ไปจนถึงการขนส่ง ทั้งทางอากาศ - รถไฟ - น้ำที่ล่าช้า จนอาจทำให้สินค้าการเกษตร - ผลไม้เสียหาย ก็ให้คณะทำงานเร่งแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้  ร่วมกันทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดภาระด้านงบประมาณ จนเกิดผลกระทบกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องปุ๋ยที่แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางเรื่อง BCG โดยส่งเสริมการทำ "เกษตรปลอดภัย" และเตรียมเปลี่ยนผ่านไปสู่ "เกษตรอินทรีย์" ในอนาคต ซึ่งต้องทำโดยเร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไทยบางส่วนก็ยังคงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต และข้อจำกัดเรื่องราคาที่เป็นต้นทุนการผลิตอีกด้วย 

ประเด็นสำคัญ คือ "การลดโลกร้อน" ที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีในภาคการเกษตรยังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันและอนาคต เราต้องเร่งวิจัยพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี และสร้างผลผลิตที่เป็นเกษตรอินทรีย์ให้ได้มากที่สุดในอนาคต ตรงความต้องการตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพครับ