“แลนด์มาร์คสายมู” ทีดีอาร์ไอ แนะกระจายเม็ดเงิน ปลุก ศก.-การค้า-ท่องเที่ยว

08 ก.พ. 2565 | 04:21 น.

“แลนด์มาร์คสายมู” นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ แนะ ต้องกระจายเม็ดเงิน ปลุกเศรษฐกิจ-การค้า-ท่องเที่ยว สร้างกิจกรรมเชื่อมโยงนักท่องเที่ยว

หากเราเฝ้าสังเกตสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด 19 สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย นั่นคือการหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์กันมากขึ้น แม้ความเชื่อและความศรัทธาจะอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ไม่ว่าจะมีโควิด19 หรือไม่ก็ตาม

งานวิจัย ‘Marketing in the Uncertain World’ การตลาดของคนอยู่เป็น โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในช่วงโควิด-19 คนไทยเกิดความรู้สึกกังวลกับความไม่แน่นอนในชีวิต ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์คนไทยหันหน้าพึ่ง "สายมู"

ผลวิจัยระบุว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันหันหน้ามาพึ่งความเชื่อโชคลาง โดย 5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุด ได้แก่ 1. พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี 2. พระเครื่องวัตถุมงคล 3. สีมงคล 4. ตัวเลขมงคล และ 5. เรื่องเหนือธรรมชาติ

สอดคล้องกับสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราคงได้เห็นภาพตามสื่อต่างๆ ที่ประชาชนแห่ไปเคารพสักการะสิ่งศักดิ์ที่เคารพนับถือ อย่างเช่น “ท้าวเวสสุวรรณ” วัดจุฬามณี จนต้องประกาศปิดวัด 15 วัน เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะมีประชาชนวันละเป็นหมื่นคน ไปสักการะ “ท้าวเวสสุวรรณ” เฉพาะช่วงวันหยุดจะมีมากกว่าหมื่น ส่งผลให้การจราจรบริเวณรอบวัดติดขัด

หรือแม้แต่ “ถ้ำนาคา” จ.บึงกาฬ ก็พบว่ามีประชาชนแห่ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ โดยเฉพาะพญานาคกันจำนวนมากจนเกิดความแออัด ติดค้างจำนวนมาก

ในกรุงเทพฯ ก็ไม่แพ้กัน ย่านราชประสงค์ ได้ชื่อว่าเป็น “แยกเทพ” ตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ซึ่งสามารถเดินเท้าไปสักการะองค์เทพต่าง ๆ กว่า 8 องค์ ได้ เรียกว่าซึ่งเป็นสถานที่รวมเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดย่านหนึ่งของเมืองไทย มีมิติที่ผสมผสานระหว่างความทันสมัยของศูนย์กลางเศรษฐกิจประเทศกับความศรัทธาบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระดับโลกที่ชาวต่างชาติให้การเคารพ

 

เมื่อมองโอกาสทางเศรษฐกิจของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การจะเสริมความแข็งแกร่งให้เป็นดีเอ็นเอใหม่ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจจะทำได้อย่างไร “ดร. นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า ต้องกระจายเม็ดเงิน เพราะปัจจุบันถ้าดูที่คุณค่าของคนที่เดินทางไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จะมีค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าเที่ยว ค่าซื้อของฝาก และค่าบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

ซึ่งอย่างหลังก็คือพิธีกรรมต่างๆ ถ้าจะเพิ่มคุณค่าก็จำเป็นต้องการจายคุณค่าจากค่าพิธีกรรมต่างๆ ให้มายังกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมทั้งค่าของฝากด้วย ไอเดียหนึ่งคือวัดญี่ปุ่น เช่น วัดอาซากุสะ จะมีถนนคนเดินขายของกิน ของฝากก่อนเดินไปถึงวัด มากกว่านั้นก็คือการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวเข้าไปด้วย เช่น จัดแหล่งท่องเที่ยวให้อยู่ใกล้ๆกัน ทำเป็นเส้นทาง เช่น เส้นทางจักรยาน เส้นทางไหว้ 9 วัด  หรืออาจจะพัฒนาต่อยอดกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิก็ได้เช่นกัน

 

“สุดท้ายคือเรื่องของความยั่งยืน สังคมไทยเน้นเชื่อแบบฉาบฉวย แบบแฟชั่น ตามกันไป ถ้าเป็นแบบนี้การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจจากสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะทำได้ยาก ดังนั้นต้องสอดแทรกแนวคิดเรื่องศาสนาพุทธ เน้นการพัฒนาจิตใจ ความสุขแบบสงบ ลดโทสะ โมหะ โกรธะ โลภะ เน้นความเชื่อพุทธปฎิบัติดี อันนี้จะยั่งยืนกว่าในระยะยาว สังคมจะดีด้วย พร้อมทั้งปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ชาวพุทธเข้าวัดมากขึ้น”