กลไกตลาดทำงาน หมูแพงคนลดบริโภค ราคาถูกลง ชี้ไม่จำเป็นต้องนำเข้า

12 ก.พ. 2565 | 05:22 น.

เนื่องนที ฤกษ์เจริญ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร เขียนบทความเรื่อง กลไกตลาดเสรี ปรับสมดุลอุปสงค์และอุปทานให้กับมาอยู่ในจุดเดียวกัน คนลดบริโภค ช่วยทำให้หมูลดราคาลง ขณะคนละครึ่งเฟส 4 ช่วยมีกำลังซื้อเพิ่ม รัฐควรพับแผนนำเข้าหมูซ้ำเติมเกษตรกร

 

ภาวะราคาเนื้อหมูแพงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ที่สุดแล้วก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ “กลไกตลาด” ที่สามารถทำงานได้อย่างเสรี โดยไม่มีการควบคุมให้กลไกผิดเพี้ยน ทำให้ปริมาณหมูทั่วประเทศที่แม้จะลดลงมากกว่า 50% กลับสู่สมดุลกับความต้องการบริโภคได้ หลังจากผู้บริโภคหยุดบริโภคเนื้อหมูไประยะหนึ่ง เมื่ออุปสงค์กับอุปทานกลับมาอยู่ในจุดเดียวกัน ราคาหมูจึงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

ปัจจุบันเนื้อหมูในท้องตลาดราคาอ่อนตัวลง หมูสันนอก-สันใน ราคา 190 บาทต่อกิโลกรัม หมูเนื้อแดง 170 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนหมูบด 120-140 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มตามประกาศราคาแนะนำของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ 94-97 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศได้ร่วมกันรักษาระดับราคามาเป็นสัปดาห์ที่ 5 เพื่อช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้กับประชาชน และไม่ให้ต้องตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นตัวการทำให้ราคาหมูแพง 

 

กลไกตลาดทำงาน หมูแพงคนลดบริโภค ราคาถูกลง ชี้ไม่จำเป็นต้องนำเข้า

 

กลไกตลาดที่ทำให้ราคาหมูอ่อนตัวลง เป็นผลดีต่อการกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค ผนวกกับมาตรการของรัฐบาลในโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ยิ่งเป็นปัจจัยบวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมู รวมถึงเนื้อไก่โปรตีนคุณภาพดีที่ราคาไม่สูง จากการสำรวจราคาล่าสุด น่องไก่ 65 บาทต่อกิโลกรัม น่องติดสะโพก 70 บาทต่อกิโลกรัม อกไก่-ปีกไก่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ไก่ตัว 75-80 บาทต่อกิโลกรัม 

 

เวลานี้จึงเป็นนาทีทองของผู้บริโภค ที่สามารถเลือกบริโภคได้ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ได้ในราคาเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

 

กลไกตลาดทำงาน หมูแพงคนลดบริโภค ราคาถูกลง ชี้ไม่จำเป็นต้องนำเข้า

 

ส่วนประเด็น "การกักตุนเนื้อหมู" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความกระจ่าง ตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการว่า “โดยหลักกฎหมายหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกักตุน ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย” แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้วทุกจุดขายปลีกทั่วประเทศ ทั้งในห้างค้าปลีก ตลาดสด รวมถึงร้านค้า ต่างมีการบริหารการวางสินค้าเนื้อหมูและชิ้นส่วน ตลอดช่วงเวลาการขายได้อย่างไม่ขาดแคลน ดังนั้นจึงไม่ได้เข้าข่ายการกักตุนแต่อย่างใด

 

สำคัญกว่านั้นคือ ในตลาดตอนนี้มีสินค้าจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปริมาณเนื้อหมูมีมากกว่าความต้องการบริโภคด้วยซ้ำ ส่งผลต่อกลไกตลาดได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น 

 

กลไกตลาดทำงาน หมูแพงคนลดบริโภค ราคาถูกลง ชี้ไม่จำเป็นต้องนำเข้า

 

เมื่อเนื้อหมูมีปริมาณมากจนล้น วิธีแก้ปัญหาขาดแคลนด้วยการนำเข้าเนื้อหมู อย่างที่บางฝ่ายแนะนำก็ไม่มีความจำเป็น เพราะไทยมีหมูเพียงพอกับการบริโภค ไม่ได้ขาดแคลน จึงไม่ต้องพึ่งการนำเข้าทั้งเนื้อหมู ชิ้นส่วน หรือหมูแปรรูปจากต่างประเทศ มาซ้ำเติมปัญหาของภาคผู้เลี้ยง อย่านำเข้าโรคหมูต่างถิ่นมาทำร้ายหมูไทย อย่าให้หมูนอกที่ราคาต่ำกว่ามาตีตลาดหมูไทย จนทำลายระบบการเลี้ยงหมูให้ย่อยยับ ที่สุดแล้วความมั่นคงทางอาหารของประเทศย่อมสั่นคลอนอย่างแน่นอน 

 

สิ่งที่ควรจะทำตอนนี้คือ หันมากินหมู กินไก่ ช่วยเกษตรกร ให้พวกเขาได้มีกำลังต่อยอดอาชีพเดียวให้คงอยู่ต่อไป เพื่อร่วมสร้างเสถียรภาพแก่อุตสาหกรรมหมู ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับอาหารโปรตีนของประเทศไทย