จับตาคนว่างงานยาวเกิน 1 ปีพุ่ง เด็กจบใหม่เสี่ยงมากสุด

07 ก.พ. 2565 | 09:36 น.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดสถานการณ์การว่างงานไทย ไตรมาส 4 ปี 2564 พบตัวเลขน่าตกใจ คนว่างงานระยะยาวเกิน 1 ปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัยทำงาน อายุระหว่าง 15 – 30 ปี

นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยสถานการณ์การว่างงาน ไตรมาส 4 ปี 2564 ว่า แม้สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสนี้จะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังต้องจับตามองปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือ การว่างงานที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับปัญหาการว่างงานของประชากร

 

โดยในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานระยะยาวในสัดส่วนที่สูงถึง 0.4% ขณะที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.2% นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่การว่างงานระยะยาวเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมา คือ ผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ

“สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 แม้ว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็ยังเป็นอัตราการว่างงานที่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 1% โดยการว่างงานของคนกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี ลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากอัตรา 8.6% เป็น 7.2%"

 

ส่วนการว่างงานระยะยาว หรือการว่างงานนานกว่า 1 ปีขึ้นไปเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูในระยะต่อไป เพราะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีจำนวนเพียง 3.5 หมื่นคน เป็น 1.18 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัยทำงาน อายุระหว่าง 15 – 30 ปี

 

จับตาคนว่างงานยาวเกิน 1 ปีพุ่ง เด็กจบใหม่เสี่ยงมากสุด

ขณะที่ผู้เสมือนว่างงาน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีงานทำภาคเกษตรกรรม 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่มีงานทำนอกภาคการเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้น กลุ่มนี้เรียกว่า ผู้เสมือนว่างงาน จากผลสำรวจในไตรมาส 4 ปี 2564 ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มี 2.56 ล้านคน เป็น 2.61 ล้านคน

 

สำหรับคนกลุ่มนี้ยังมีงานทำแต่ชั่วโมงการทำงานลดลงหรือคนที่มีความเสี่ยงว่างงานในอนาคต ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาชีพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงานในอนาคตได้

 

อย่างไรก็ตามเมื่อดูภาพรวมสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 ของประเทศไทย พบว่า มีแนวโน้มดีขึ้น ภายหลังจากมาตรการด้านโควิดของรัฐบาลเริ่มผ่อนคลาย แรงงานมีงานทำมากขึ้น และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้ามาสู่ภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 66.3% โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการบริการและการค้า รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต ตามลำดับ