การรถไฟฯ เปิดสเปค “อุลตร้าแมน” หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

05 ก.พ. 2565 | 04:25 น.

การรถไฟฯ เปิดสเปค “อุลตร้าแมน” หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย ที่มาพร้อมความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. เพิ่มศักยภาพด้านการเดินทางและการขนส่ง

หลังเผยโฉม “หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นล่าสุด (CDA5B1) หรือที่ใครๆ ต่างพากันเรียกว่า “อุลตร้าแมน” ด้วยลักษณะหัวรถจักรที่มีสีแดง-เทา คล้ายกับชุดของอุลต้ราแมน หัวรถจักรรุ่นนี้ผลิตโดย บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) ประเทศจีน โดยหัวรถจักรที่การรถไฟฯ ตั้งเป้าจะนำมาเป็นกำลังสำคัญเพื่อเสริมทัพศักยภาพรถไฟไทย ให้แข็งแกร่งทั้งในด้านการขนส่งและสนับสนุนการท่องเที่ยวทางรางให้คึกคักมากยิ่งขึ้น ซึ่งเซ็นสัญญาซื้อขายไว้จำนวน 50 คัน มูลค่า 6,525 ล้านบาท 

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อ ไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 กับ กิจการร่วมค้าเอสเอฟอาร์ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล และทำการจัดส่ง“ หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า” ล็อตแรก เมื่อช่วงปลายเดือน มกราคม 2565
ที่ผ่านมาแล้วจำนวน 20 คัน ส่วนในล็อตที่ 2 อีก 30 คัน คาดว่าน่าจะถึงประเทศไทยประมาณเดือน ก.พ. 2566 หรือช่วงต้นปีหน้า

 

การรถไฟฯ เปิดสเปค “อุลตร้าแมน” หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

ทำไมต้องซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า? 

 

ปัจจุบันหัวรถจักรของการรถไฟฯ มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน วิ่งให้บริการทุกวัน ทำให้หัวรถจักรบางคันเริ่มเสื่อมสภาพและชำรุด จนทำให้ต้องหยุดให้บริการไปบ้างในบางส่วน  ส่งผลให้ขบวนรถที่นำไปให้บริการประชาชนมีไม่เพียงพอ  การสั่งซื้อหัวรถจักรใหม่นี้จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน โดยจะทดแทนคันที่ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ทั้งยังเป็นการสนับสนุนศักยภาพการเพิ่มรายได้ของการรถไฟฯอีกทางด้วย 

 

สเปคแน่น สมรรถนะดีกว่าเดิม !

 

แน่นอนว่าหัวรถจักรใหม่นี้มีสมรรถนะการใช้งานดีกว่าเดิมมาก โดยคุณสมบัติหลักๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของรถไฟ คือมีกำลังของเครื่องยนต์สูงสุดที่ 3,263 แรงม้า (2,400 kW)  ทำให้สามารถลากจูงขบวนรถโดยสารน้ำหนัก 550 ตัน ได้ความเร็วสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากต้องลากจูงขบวนรถโดยสารน้ำหนัก 1,000 ตัน สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากมีการบรรทุกสินค้าที่น้ำหนักถึง 2,100 ตัน จะทำความเร็วสูงสุดได้ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

การรถไฟฯ เปิดสเปค “อุลตร้าแมน” หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

นอกจากนี้ ยังมีระบบห้ามล้อ ผลิตจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แบบ Electronic air brake system จากเดิมรถจักรในปัจจุบันใช้แบบ Pneumatic air brake system ซึ่งทำให้การซ่อมบำรุงรักษาที่ง่ายขึ้นกว่ารถจักรแบบเก่า 

 

ทั้งนี้ถึงหัวรถจักรจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลแต่มีค่ามาตรฐานการปล่อยควันไอเสียต่ำ ตามมาตรฐาน UIC IIIA / EU Stage IIIA และสามารถรองรับการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันไบโอดีเซล จนถึง B20ได้ เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งรูปแบบแคร่รถจักร Co-Co (เป็นรูปแบบ 6 เพลา ชุดละ 3 เพลา ) ทำให้สามารถวิ่งบนเส้นทางมาตรฐานของการรถไฟฯได้อย่างแน่นอน

 

สำหรับตำแหน่งพนักงานขับรถ (พขร.) อยู่ทางด้านขวาของตัวรถ รวมทั้งติดตั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้านหน้ารถจักรและเครื่องพ่วง

 

การรถไฟฯ เปิดสเปค “อุลตร้าแมน” หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้องใหม่ของไทย

 

หัวรถใหม่ล็อตแรกจะนำไปวิ่งเส้นทางไหนก่อน? 

 

ในประเด็นนี้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจรับ เช็คสภาพและความสมบูรณ์ต่างๆ ของเครื่องยนต์ อะไหล่  ทั้ง 20 คันแล้ว จะมีกระบวนการให้พนักงานขับรถ ทดสอบขับ โดยคาดว่าจะนำไปวิ่งให้บริการในเส้นทางรถไฟทางไกล เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเสริมศักยภาพในการหารายได้ของการรถไฟฯ ตลอดจนสเปคหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าดังกล่าวยังรองรับการขยายโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรางอื่นๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดให้บริการประชาชนในอนาคต

 

อย่างไรก็ตามหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าในล็อตที่ 2  หรือ อีกจำนวน 30 คันที่เหลือ ทางบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิชูเยียน (CRRC Qishuyan) จะเริ่มทำการผลิต(Manufacturing) ในช่วงเดือนมีนาคม 2565  หลังจากนั้นจะจัดส่งให้กับการรถไฟภายใน 915 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญาฯ  หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566  และการรถไฟฯยังมีแผนที่จะจัดซื้อตู้โดยสารใหม่ เพื่อนำมาจัดสรรให้สอดคล้องกับความต้องการ และทดแทนตู้โดยสารเก่าที่เริ่มเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน

 

โครงการจัดหาหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของการรถไฟฯ โดยเป้าหมายสำคัญนอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน ให้ได้รับความปลอดภัย และสะดวกสบายในการใช้ระบบขนส่งทางรางแล้ว ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการท่องเที่ยว  และการเดินทางด้วยระบบรางให้คึกคัก จนนำไปสู่การสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป