"ซีอีโอ คอนเน็กชั่น” ดันผู้นำเข้าสายพันธุ์ไทย ผงาดตลาดสหรัฐฯ

23 ม.ค. 2565 | 03:56 น.

เอ่ยชื่อ “ประมุข เจิดพงศาธร” เจ้าของ และประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท PJ US GROUP คนในวงการส่งออกไทยเป็นที่รู้จักกันดี เพราะกลุ่มบริษัท PJ US GROUP เป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่เพื่อจัดจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้เขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (HTA) ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง ณ เวลานี้ธุรกิจของกลุ่ม กำลังไปได้สวยในตลาดสหรัฐฯที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย

 

 "ประมุข” ให้สัมภาษณ์ กับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยฉายภาพธุรกิจของกลุ่ม PJ US GROUP ว่า ณ ปัจจุบันมีบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ รวม 5 บริษัท ประกอบด้วย CKK Paradiso Inc. ที่เป็นบริษัทแม่ดูแลครบวงจร, Sathorn Organic Corp.ทำตลาดสินค้าออร์แกนิค, Can Thai Am Import & Export Corp. ทำตลาดสินค้ากลุ่มลูกค้าฮิชแปนิก (Hispanic), Temple Khonkaen Corp. ทำตลาดสินค้ากลุ่ม เรือนจำ และ Pak Thai Corp. ทำตลาดห้างสรรพสินค้าระดับบน โดยในปี 2562-2564 รายได้ของกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 50% มีรายได้มากกว่าพันล้าน และในปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 50%

 

ประมุข  เจิดพงศาธร

 

  • ขับเคลื่อนธุรกิจครบวงจร

ทั้งนี้การทำธุรกิจของ PJ US GROUP จะทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยต้นน้ำได้ผนึกเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) กับโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้ขยาย 3 โรงงานเพื่อผลิตสินค้าน้ำกะทิ น้ำว่านหางจระเข้ น้ำมะพร้าว ขนมขบเคี้ยวและผักผลไม้กระป๋องป้อนให้กับทางกลุ่มเพียงรายเดียว

 

 ส่วนกลางน้ำคือการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ทางกลุ่มมีคอนเน็กชั่นกับผู้ถือหุ้นในสายเดินเรือเส้นทางอเมริกา และเส้นทาง อื่นๆ ทำให้ทราบถึงการขึ้น-ลงของค่าระวางเรือเป็นอย่างดี สามารถวางแผนการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนการนำเข้าสินค้า และการกำหนดราคาที่ปลายทางได้อย่างเหมาะสม ส่วนปลายน้ำทางกลุ่มมีสายสัมพันธ์กับเจ้าของหรือผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการจัดจำหน่าย หรือดิสทริบิวเตอร์ในสหรัฐฯ โดยเป็นผู้จัดหาสินค้า(ซัพพลายเออร์) ให้กับลูกค้าที่ป้อนสินค้าให้กับห้างสรรพสินค้าทั่วสหรัฐฯ ทั้งภายใต้แบรนด์ของผู้จัดจำหน่าย แบรนด์ของห้างสรรพสินค้าที่ทางตัวแทนจำหน่ายสั่งจัดหาเพื่อนำไปจำหน่ายในห้างฯ รวมถึงยังมีสินค้าในแบรนด์ของทางกลุ่มที่จัดหาป้อนให้กับห้างสรรพสินค้าโดยตรง ทั้งภายใต้แบรนด์ของห้างฯ และในแบรนด์ของทางกลุ่มเอง ซึ่งมีหลายรูปแบบ

 

 

"ซีอีโอ คอนเน็กชั่น” ดันผู้นำเข้าสายพันธุ์ไทย ผงาดตลาดสหรัฐฯ

 

  • ซีอีโอคอนเน็กชั่นกุญแจความสำเร็จ

 “กลไกที่ผมสร้างขึ้นมาในช่วง 8 ปี คือการใช้ระบบเพื่อนในการรวมพลังความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เป็นสเปเชียลคอนเน็กชั่นโดยการสร้างสายสัมพันธ์เป็นใยแมงมุม ทั้งในการเป็นเพื่อนกับเจ้าของบริษัทดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ เป็นเพื่อนกับเจ้าของห้างฯที่สามารถยกหูคุยกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง การสร้างความน่าเชื่อถือ และเชื่อใจให้กับลูกค้าทั้งในแง่คุณภาพสินค้า การจัดส่งที่ตรงเวลา และด้านอื่นๆ ซึ่งเมื่อคู่ค้าเชื่อใจมีอะไรก็จะให้เราทำ ขณะที่เราจะรับจัดหาสินค้าตามกำลังที่รับไหว ไม่โลภ เพราะถ้ารับเกิน หรือทำไม่ได้แล้วไปฝืนจะเกิดหายนะตามมา”

 

"ซีอีโอ คอนเน็กชั่น” ดันผู้นำเข้าสายพันธุ์ไทย ผงาดตลาดสหรัฐฯ

 

ประมุข เผยอีกว่า ปัจจุบันทางกลุ่มมีพันธมิตรทางการค้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ 4 ราย  และเจ้าของห้างสรรพสินค้า 8 ราย มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายมากกว่า 3 หมื่นสาขา โดยผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ อาทิ Marquez Brothers ที่จับตลาดกลุ่มฮิชแปนิก สินค้าที่ทางกลุ่มจัดหาป้อนให้กับ Marquez Brothers เช่น น้ำมะพร้าว(600 ตู้ต่อปี) ข้าวสาร เป็นต้น, United Natural Foods Inc. (UNFI) ผู้ค้าส่งอาหารรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 8 แสนล้านบาท) ที่ทางกลุ่มได้รับมอบหมายให้จัดหาน้ำกะทิ  ข้าวสาร และขนบขบเคี้ยวป้อน ภายใต้แบรนด์ของเราเอง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ทางกลุ่มจัดจำหน่ายตรงให้กับห้างในสหรัฐฯ เช่นส่งให้กับห้าง LA MICHOACANA ที่มี 150 สาขาในสหรัฐฯภายใต้แบรนด์ของห้างฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ทางกลุ่มได้เน้นลูกค้าตลาดบน หรือตลาดพรีเมี่ยมเป็นหลัก

 

  • วิกฤติโควิดยิ่งเพิ่มโอกาส

“ในเรื่องการสร้างแบรนด์ของเราเอง นอกเหนือจากแบรนด์ของลูกค้าเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ เราไม่ได้รับผลกระทบเรื่องยอดขาย เพราะการเกิดโควิดทั้งในรอบเก่าและรอบใหม่ในสหรัฐฯทำให้คนอเมริกันแห่ตุนอาหาร ผู้ที่ได้เปรียบคือสินค้าที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงแล้ว ที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อเป็นอันดับแรก เมื่อคนแห่ซื้อ ห้างก็จะสั่งเราเพิ่มต่อเนื่อง  เวลานี้ลูกค้าสั่งของเราเพิ่มขึ้น ขณะที่รายเล็กรายน้อยที่แบรนด์ไม่แข็งแกร่งก็ต้องล้มหายตายจาก หรือหยุดกิจการไป”

 

ขณะเดียวกันจากโควิดที่ระบาดในสหรัฐฯ และรัฐบาลได้ชดเชยเยียวยาให้กับประชาชน ทำให้เกิดปัญหาตามมาในขณะนี้คือ คนไม่ทำงานแต่รอรับความช่วยเหลือ ส่งผลให้ขาดแคลนคนทำงานที่ท่าเรือ และขาดแคลนคนขับรถขนส่งสินค้ามากกว่า 8 หมื่นตำแหน่ง สินค้ากองอยู่ที่ท่าเรือ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนส่งสินค้าทั่วโลกขาดแคลน และมีผลทำให้ค่าระวางเรือและค่าจ้างรถขนส่งในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น ค่าระวางเรือไปลอสแองเจลีส จากเคยอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์ต่อตู้ (20 ฟุต) เวลานี้ขึ้นไปสูงถึง 1.5-1.8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ ค่ารถบรรทุกขนส่งจากแคลิฟอร์เนียไปเท็กซัส จาก 2,500 ดอลลาร์ ปรับขึ้นเป็น 6,500-7,000 ดอลลาร์ต่อเที่ยว เป็นต้น ส่งผลราคาสินค้าในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งในส่วนของสินค้าที่มีแบรนด์ไม่ค่อยมีปัญหามากนักจากต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะสามารถปรับขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นคุณค่าของแบรนด์สินค้า

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3751 วันที่ 23 -26 มกราคม 2565