SCBT ประเมินจีดีพีไทยปี65 โต 3.3% ห่วงโควิด-ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและโลก

14 ม.ค. 2565 | 08:52 น.

SCBTประเมินจีดีพีปี65ขยายตัว 3.3% นักธุรกิจ -นักลงทุน ห่วงโควิดและส่วนต่างดอกเบี้ย ลุ้นปรับประมาณการไตรมาส 2 เหตุยังมีความไม่แน่นอน 4ปัจจัย

SCBTประเมินจีดีพีปี65ขยายตัว 3.3% นักธุรกิจ -นักลงทุน ห่วงโควิดและส่วนต่างดอกเบี้ย  ลุ้นปรับประมาณการไตรมาส 2   เหตุยังมีความไม่แน่นอน 4ปัจจัย “โควิด  -ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ จำนวนนักท่องเที่ยว และกิจกรรมทางการเมืองก่อนเลือกตั้ง”

SCBT ประเมินจีดีพีไทยปี65 โต 3.3%  ห่วงโควิด-ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและโลก

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT  เปิดเผยว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด  ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโต 3.3% โดยยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามตลอดทั้งปี  4 ไตรมาส 4 ปัจจัยสำคัญต้องติดตาม

“ปีนี้เรามองไฮไลต์ 4ปัจจัยต้องติดตามใน 4ไตรมาส คือ ไตรมาสแรกจับตาสถานการณ์โควิดหรือโอมิครอน ถัดไปไตรมาสสองต้องติดตามดูว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เรามองไว้ 5-10ล้านคนนั้นจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน ขณะที่ไตรมาส3 ต้องติดตามว่าส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับโลก โดยเฉพาะสหรัฐจะเป็นอย่างไร และไตรมาส4 อาจจะมีกิจกรรมทางการเมืองออกมาซึ่งอาจจะมีทั้งมุมบวกและลบก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนมี.ค.ปีหน้า”

สำหรับปัจจัยส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและโลกนั้น ธนาคารมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2ครั้ง(มี.ค.และมิ.ย.65) จากระดับ 0.25%เป็น 0.75%ต่อปี ซึ่งตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจากสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทย

 

ล่าสุดธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.25% จาก 0.50% ดังนั้น  ตลาดจึงมีความกังวลว่าเมืองไทยเมืองไทยจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจนเกิดความผันผวนหรือเงินทุนไหล

ดร.ทิม กล่าวว่าในมุมมองของSCBT คาดว่า  คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ที่ระดับ 0.50%ต่อปี  โดยจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปลายปี 2566 จำนวน 2ครั้งเป็นอัตรา 1.00ต่อปี  เพราะแนวโน้มแม้เงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ 1-3%

 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นลูกค้าและนักลงทุนของธนาคารประมาณ 150ราย  ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องสถานการณ์โควิดและ  ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐจะส่งผลต่อเงินไหลออกหรือไม่  เนื่องจากรอบนี้ตัวช่วยอย่างดุลบัญชีเดินสะพัดและการท่องเที่ยวไม่แข็งแกร่งเช่นในอดีต ( เช่น เมื่อปี 2561 เมืองไทยมีBuffer ที่แข็งแกร่งทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและนักท่องเที่ยว  แม้ว่าดอกเบี้ยไทยจะต่ำกว่าดอกเบี้ยของสหรัฐ)

 

ขณะเดียวกันในแง่ของการประคองดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น  SCBTอยากเห็น เมืองไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 5ล้านคน ซึ่งช่วงปีแรกควรมีนักท่องเที่ยวจำนวน 5-10คนเพื่อให้สามารถดึงดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลคาดว่าอาจจะใช้เวลา 3-5ปี

สำหรับทิศทางอัตราอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่าครึ่งปีแรกเงินบาทยังอ่อนค่า และครึ่งปีหลังจะทยอยแข็งค่า โดยไตรมาสแรก คาดว่าเงินบาทน่าจะอยู่ในโซน 34บาทต่อดอลลาร์ หลังเปิดปีใหม่ที่ระดับ 33.40บาท/ดอลลาร์ จากนั้นไตรมาส 2 มองเงินบาทค่อยๆแข็งค่าแตะระดับ 33.25บาท/ดอลลาร์แต่ระหว่างนั้นจะประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวอีกครั้ง  ซึ่งครึ่งปีหลังหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาน่าจะส่งผลบวกต่อเงินบาทให้อยู่ที่ระดับ 32บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปีนี้

 

“ปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนรออยู่ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามทุกไตรมาสตลอดทั้งปีเราจึงมีมุมมองระมัดระวังเรื่องเศรษฐกิจไทย ซึ่งตัวเลข 3.3% เราคาดการณ์มาตั้งแต่เดือนพ.ย.ช่วงก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน  แต่ตอนนี้ หลายๆ แห่งกำลังทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงมา  แม้ซึ่งช่วงนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีแต่ยังไม่ชัดเจน เพราะการลงทุน การบริโภคภาคเอกชน ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยทั้งสองตัวแปรนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในภาคเอกชนที่ยังปกคลุมอยู่ในปี 2565”