“อาเซียน” ถกเข้ม ผลักดันแผนงานด้านเศรษฐกิจให้สำเร็จในปีนี้

13 ม.ค. 2565 | 09:00 น.

“อาเซียน” ถกเข้ม ผลักดันแผนงานด้านเศรษฐกิจให้สำเร็จในปีนี้  พร้อมเร่งทำ FTA อาเซียน-แคนาดา รอบแรก ตั้งเป้าสรุปผลภายใน 2 ปี และเตรียมจัดประชุมประเมินความพร้อมการเข้าร่วมความตกลงด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต  

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลัง เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (SEOM Retreat) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่าที่ประชุมได้รับทราบประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนเสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จในปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ASEAN A.C.T. : Addressing Challenges Together” จำนวน 17 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน

“อาเซียน” ถกเข้ม ผลักดันแผนงานด้านเศรษฐกิจให้สำเร็จในปีนี้

 

ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อาทิ การพัฒนาระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) ด้านดิจิทัล (2) การลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน อาทิ การจัดทำแผนงานสำหรับกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เพื่อให้สามารถดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (3) การส่งเสริมการบูรณาการและความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของอาเซียน

“อาเซียน” ถกเข้ม ผลักดันแผนงานด้านเศรษฐกิจให้สำเร็จในปีนี้

อาทิ การเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และ (4) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา อาทิ การสรุปการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และการมีผลใช้บังคับของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กับประเทศผู้ลงนามทั้งหมด ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างการพัฒนา และทำให้เกิดความยั่งยืนของภูมิภาค

“อาเซียน” ถกเข้ม ผลักดันแผนงานด้านเศรษฐกิจให้สำเร็จในปีนี้

“ที่ประชุมได้หารือแผนการทำงานของอาเซียนด้านเศรษฐกิจปี 2565 โดยเฉพาะการดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) และแนวทางการปรับปรุงกระบวนการทำงานของอาเซียนในสาขาต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทาง และสถานการณ์ของภูมิภาคและของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะมาตรการสำคัญที่เสาเศรษฐกิจจะต้องดำเนินการในปี 2565 เช่น การขยายเอกสารที่แลกเปลี่ยนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) การจัดทำแผนดำเนินงานในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดทำกรอบเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เป็นต้น ซึ่งประเด็นและมาตรการดังกล่าวจะมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ในปีนี้”

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา โดยจะเร่งการเจรจารอบแรกให้เร็วที่สุดเพื่อให้ได้ข้อสรุปตามเป้าหมายที่วางไว้ภายใน 2 ปี และการเตรียมการสำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ รวมถึงหารือประเด็นการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต โดยเบื้องต้นที่ประชุมได้เห็นชอบให้จัดประชุมเพื่อประเมินความพร้อมและแนวทางสนับสนุนที่เหมาะสมในการเข้าร่วมความตกลงด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 100,709.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.91 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 58,935.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 41,773.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์