ปรากฏการณ์เด่น ปี 64 ฮีโร่ ประกันรายได้ ปุ๋ยแพงช็อกโลก ส่งออกโตสูงสุดรอบ12ปี

31 ธ.ค. 2564 | 03:54 น.

เปิดข่าวเด่น ประเด็นร้อน ปี 2564 ภาคเกษตร-ส่งออก ต้องยกให้ ฮีโร่ “ประกันรายได้” อุ้มเกษตรกร ฝ่าวิกฤติโควิด สวนทางส่งออกโตสูงสุดรอบ 12 ปี นับว่าเป็นสีสัน ที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

ปี 2564 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีข่าวเด่นภาคเกษตร และการค้าของไทย ที่ถือเป็นสีสันและต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เพราะหลายเรื่องหลายเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ บางเรื่องเป็นเหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บางเรื่องดำเนินมาถึงจุดจบ  และบางเรื่องยังต้องติดตามต่อในปี 2565 ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ประมวลมานำเสนอดังนี้

 

  • “ประกันรายได้” ฮีโร่อุ้มเกษตรกรฝ่าโควิด

โครงการประกันรายได้เกษตรกรใน 5 พืชเศรษฐกิจ ได้แก่  ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ถือเป็น “พระเอกขี่ม้าข้าว” เข้ามาช่วยเกษตรกร 7.92 ล้านครัวเรือนให้มีหลักประกันด้านรายได้ โดยขายสินค้าได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน ช่วยให้อยู่ดีกินดีขึ้นถือเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้ใจเกษตรกรไปเกินร้อย ซึ่งหากคิดเฉลี่ยที่ครัวเรือนละ 4 คน นโยบายนี้จะดูแลเกษตรกรและครอบครัวได้ครอบคลุมถึง 31.68 ล้านคนโดยประมาณ

 

ประกันรายได้ข้าว

 

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พืชเศรษฐกิจหลักของไทยถือเป็นปฐมเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% ของจีดีพีเป็น 70% ของจีดีพีเพื่อให้รัฐบาลมีกรอบวงเงินที่สามารถกู้มาจ่ายให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น  โดยโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวและมาตรการเพิ่มเติมนี้เป็นนโยบายผสมผสานของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ โดยนโยบาย “ประกันรายได้เกษตรกร” เป็นของพรรคประชาธิปัตย์

 

ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ “เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 2 หมื่นบาท เป็นของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่แข่งเอาใจเกษตรกรที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญ และยังเดินหน้าต่อไปเป็นปีที่ 3 ณ เวลานี้

 

  • จุดจบ “โละสต๊อกยาง”ลุ้น ป.ป.ช.ชี้ขาด

 

 ต้องยกนิ้วให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล้าตัดสินใจให้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)  และกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) นายประพันธ์ บุณยเกียรติ เป็นประธานบอร์ด (ในขณะนั้น) ได้ตัดสินใจขายเหมาสต๊อกยางพาราให้กับ เอกชน

 

โดยพิจารณาประกาศและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประมูลครั้งก่อนจำนวน 15 ราย ซึ่งมีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น จำนวน 6 ราย แต่ปรากฏ มี บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นเสนอราคาซื้อเพียงรายเดียว ได้ในราคาคิดเป็นมูลค่า 3,877 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลกรัม (กก.) ละ 37.01 บาท

 

เปิดดีลขายยาง 1.04 แสนตัน

 

 มีผลให้ฝ่ายค้าน  ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)ให้มีการตรวจสอบว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบายโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.ฮั้วประมูล พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย หรือไม่ เพราะยางจำนวน 1.04 แสนตันที่ขายไป

 

เป็นยางที่ซื้อมาในโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันรักษาเสถียรภาพราคายางที่นำออกมาขายในช่วงที่ราคายางในประเทศมั่นคงแล้ว และนำออกมาขายในราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายในประเทศ มองว่าเอื้อประโยชน์แก่เอกชนเพียงรายเดียว และยังเรียกร้องให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ และนายเฉลิมชัย ในฐานะประธาน และ รองประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)

 

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

เรื่องดังกล่าวนายณกรณ์  ระบุว่า  หากพิจารณาข้อกล่าวหา อาทิ ยางในราคาสภาพ 9 ปี ควรจะได้ขายในราคายางปัจจุบัน  ข้อนี้ไม่สมเหตุสมผล ส่วนสต๊อกยาง ในองค์การยางระหว่างประเทศ หรือ INRO เคยเก็บยางนานถึง 17 ปียังไม่เสื่อมสภาพ ต้องเข้าใจว่า ยางที่หมุนกับ ยางเดทสต๊อก (date stock) คุณภาพแตกต่างกันอยู่แล้ว ถ้ายางเสื่อมเจ้าของโกดัง และเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ตรงนี้ไม่เห็นด้วย

 

 

เรื่องนี้ต้องจับตา จุดจบ “โละสต๊อกยางพารา” ลุ้น ป.ป.ช. ชี้ขาด จะพบจุดจบแบบจำนำข้าวหรือไม่

 

  • ครั้งแรก ลำไยไทยโดนจีนแบน “เพลี้ยแป้ง”

เป็นข่าวสุดช็อกทั้งประเทศ “จีนแบนลำไย” ไทย จากเพลี้ยแป้งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปคนในวงการลำไยค่อนข้างวิตกกังวลมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บางสวนถึงกับจะโค่นลำไยทิ้งกันเลยทีเดียว ฝ่ายไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ระดมทุกวิถีทางเพื่อทำให้ไทยได้ส่งออกเร็วที่สุดป้องกันไม่ให้สินค้าเสียหาย

ส่งออกลำไย 11 เดือน ปี 2564

 

ในช่วงนั้น นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ถึงกับเอ่ยปากว่าเหนื่อยมากทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อหาวิธีเจรจา จนในที่สุดสามารถทำให้ล้ง 56 ล้ง ที่มีปัญหาน้อยที่สุดส่งออกได้ปกติ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยใช้เวลาเพียงแค่ 5 วันในการแก้ปัญหา

 

  • โลกช็อกปุ๋ยแพงรอบ 13 ปี

 

พิษโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทำให้ทุกประเทศตระหนักถึงความมั่นคงด้านอาหาร ที่ต้องมีหล่อเลี้ยงประเทศได้อย่างเพียงพอ  มีส่งผลให้จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลกประกาศใช้มาตรการทางศุลกากร จำกัดโควตาในการส่งออกสินค้าปุ๋ย “ไนโตรเจน” และ “ฟอสเฟต” จนกว่าจะถึงเดือนมกราคมปี 2565 

การนำเข้า-ส่งออก ปุ๋ย เคมี ย้อนหลัง 8 ปี

 

ส่งผลให้ราคาปุ๋ยส่งออกของจีนในตลาดโลก ณ วันที่ 16 ต.ค. 64  “ปุ๋ยยูเรีย” ปรับขึ้นอีก  47 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู่ที่ระดับ 700 - 720 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (เอฟ.โอ.บี.)  สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลให้เกษตรกรไม่เฉพาะเกษตรกรไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายอื่น ๆ ที่รัฐบาลต้องหาวิธีช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร อาทิ การขอความร่วมมือผู้ค้าช่วยลดราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกร เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวช็อกโลกในรอบปี

 

  • ทุจริตถุงมือยางแสนล้านใกล้อวสาน

 ฉาวโฉ่มาตั้งแต่ปลายปี 2563 กรณีการทุจริตจัดซื้อถุง มือยาง มูลค่า 112,500 ล้านบาท และการจ่ายเงินค่ามัดจำสินค้า 2,000 ล้านบาทให้กับ บริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัดที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และพวกที่อาศัยช่องโหว่ อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างถุงมือยาง

 

กลายเป็นเผือกร้อนให้กับ อคส. ต้องตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนชุดของกระทรวงพาณิชย์ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และฝ่ายค้านได้หยิบยกเป็นประเด็นนำ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

เปิดไทม์ไลน์ทุจริตถุงมือยาง

ความคืบหน้าล่าสุด การสอบสวน อคส.ได้รายงานผลการสอบสวนทางวินัยชี้มูล 3 คน ประกอบด้วย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส.  นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์  มีความผิดทางวินัยร้ายแรง มีบทลงโทษคือการไล่ออก

 

ส่วนกรณีการรับผิดทางละเมิดนั้นคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด จะมีผลพิจารณาออกมาเร็วๆ นี้ว่าใครจะต้องชดใช้ความเสียหายให้อคส. เท่าไรเบื้องต้นราว 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ

 

นอกจากนี้จากการสอบในเชิงลึก อคส. ยังพบว่ามีกลุ่มคนที่เข้าข่ายทุจริตเพิ่มเติม อีกเกือบ 10 คน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหาร ส่วนภาคเอกชนนั้นก็ไม่รอดเช่นกัน เพราะขณะนี้ ป.ป.ช. และปปง.อยู่ระหว่างชี้มูล ซึ่งเม็ดเงิน 2,000 ล้านบาท ที่อคส. เสียหายไปนั้น 2 หน่วยงานจะสืบในทางลึกว่าโยกย้ายไปที่ใดบ้าง และไปให้ใครบ้าง จะตามกลับมาชดใช้ให้หมด

 

  • ส่งออกปี 64 ขยายตัวสูงสุดรอบ 12 ปี

การส่งออกไทยปี 2564 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันแพง ต้นทุนการขนส่งพุ่ง ขาดแคลนตู้สินค้าส่งออก ค่าระวางเรือสูง  แต่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอลงแต่อย่างใด  โดยภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2564 การส่งออกมีมูลค่า 246,243 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 16.4% ทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจส่งออกไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ 15% ถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปี

 

ส่งออกสูงสุดในรอบ 12 ปี

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรปทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี 

 

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) วันที่ 27 ธ.ค.2564 เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกในปี 2565 ซึ่งภาคเอกชนประเมินในเบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 3-5% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ส่งออกปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 16% และปี 2565 ขยายตัวได้ 3-4%