ตรึงราคาปุ๋ย ทุ่ม 5.5 หมื่นล้าน ดัน “เหมืองแร่โปแตชอาเซียน” เป็นวาระแห่งชาติ

20 พ.ย. 2564 | 06:00 น.

รัฐบาลไทย เอาจริง ตั้งไข่ “เหมืองแร่โปแตชอาเซียน” ทุ่ม 5.5 หมื่นล้าน ดันเป็นวาระแห่งชาติ หวังแลก “ยูเรีย” มาเลเซีย ช่วยเกษตรกร ลดต้นทุน ก.เกษตร เผย กลาง ธ.ค.นี้ ชงงบกลาง 500 ล้าน ชดเชยปุ๋ยเคมี 5 แสนตัน ในปีหน้า

ปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการปุ๋ยของประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชสร้างความมั่นคงด้านอาหารมีเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบผู้นำเข้าและผู้ค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น และเรียกร้องขอปรับราคา

 

ขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยังใช้มาตรการเดิมคือขอความร่วมมือผู้ค้าช่วยตรึงราคา ซึ่งราคาปุ๋ยที่แพงนี้หากยังสูงต่อเนื่องและที่สุดแล้วไม่สามารถตรึงไว้ได้จะกระทบต่อเกษตรกร และราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปลดล็อกปุ๋ยแพงถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ

 

อำพันธุ์ เวฬุตันติ

 

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการชุดนี้มี นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยการแต่งตั้งของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ล่าสุดมีมติเห็นชอบกรอบและแนวคิดในการจัดทำแผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565-2569

 

แผนบริหารปุ๋ย 5 ปี

โดยในปี  2565 มีเป้าหมายให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยสั่งตัด 1.88 แสนตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 2.25 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 1.02 ล้านตัน และยอดรวมของแผน 5 ปี (2565-2569) จะผลิตปุ๋ยสั่งตัด 2.42 ล้านตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 16.32 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 14.19 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 3.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 44.01 ล้านไร่

 

ผลลัพธ์คือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้มาก อีกทั้งลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ส่วนระยะยาวช่วยเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในรูปแบบ “เกษตรปลอดภัย” ตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ไทย มีการนำเข้า และส่งออกปุ๋ยเคมี 8 ปี ย้อนหลัง

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในโครงการลดราคาปุ๋ย ที่กรมการค้าภายใน ดำเนินงานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ตรึงราคาปุ๋ยเคมี ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 และในปี 2565 จะดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องของการลดราคาปุ๋ยเคมี โดยจะชดเชยราคาปุ๋ยเกษตรกรกระสอบละ 50 บาท  

 

ทั้งนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบกลาง ตั้งเป้าปริมาณปุ๋ยเคมีที่จะชดเชย ปริมาณ 5 แสนตัน วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยปุ๋ย 1 ตัน จำนวน 20 กระสอบ (กระสอบละ 50 กก.) ชดเชย 1,000 บาท อีกส่วนหนึ่งจะชดเชยในเรื่องค่าขนส่ง จะช่วยให้เกษตรกรได้ซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลง

 

รวมทั้งยังมีเรื่องสินเชื่อโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. (วงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท) คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ล้านละ 100 บาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล (สถาบันเกษตรกรมีแผนธุรกิจมีตลาดรองรับชัดเจน) เป็นค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายหมุนเวียน 

แผนยุทธศาสตร์ ปุ๋ย 5 ปี

ส่วนแผนระยะยาว จะเน้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์ โดยเตรียมนำเสนอเรื่องเข้าครม.เรื่องการตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยในประเทศ ที่ปัจจุบันไทยมีแหล่งแร่โปแตชใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา ที่สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยและสามารถลดการนำเข้าได้เลย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมาก

 

“เป็นเรื่องเดิม แหล่งแร่โปแตชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยเรามีอยู่แล้ว ดำเนินการโดย บริษัท อาเซียน โปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) คาดจะผลิตปุ๋ยเคมีในปี 2568 เพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์แท้จริง โดยจะทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ที่มีข้อตกลงพื้นฐานที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นการร่วมทุนผลิตปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือกัน"

 

แต่ประเทศไทยไม่เคยเอาตรงนี้มาใช้ประโยชน์ ก็จะดึงตัวนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นเจรจากัน เพราะมาเลเซียเองก็มีการผลิตปุ๋ยเคมี มีแม่ปุ๋ยยูเรีย โดยจะมีการแลกเปลี่ยน เช่น เอาโปแตชไปแลกปุ๋ย เป็นต้น

 

แหล่งข่าวจากบริษัท อาเซียน โปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  บริษัทได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาโครงการนี้ล่าช้ามาตั้งแต่ก่อนและหลังได้รับประทานบัตร อย่างไรก็ดีคาดในปี 2568 บริษัทจะสามารถผลิตแร่โปแตชได้ หลังจากหารือกระทรวงการคลังแล้ว

 

มีรัฐวิสาหกิจหนึ่งแสดงความสนใจและมีศักยภาพสูงที่จะเป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งในสัดส่วนของกระทรวงการคลัง และสัดส่วนส่วนตัวที่จะลงเพิ่มได้ มั่นใจว่าจะเข้ามาผลักดันโครงการได้ โดยบริษัทมีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2,200 ล้านบาท เป็นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 และเมื่อคำนวณเวลาแล้วคาดว่าประมาณกลางปี 2568 จะเริ่มผลิตแม่ปุ๋ยโปแตชได้

 

“โครงการนี้คาดจะต้องลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 55,000 ล้านบาท รวมโรงงานที่ผลิตแม่ปุ๋ยโปแตช และโครงการที่ขุดเหมืองใต้ดินด้วย ชุมชนโดยรอบต้องการให้โครงการเกิดเพราะจะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตำแหน่ง”

 

จาก "ปุ๋ยราคาแพง" และเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ต้องเร่งปลดล็อก และโครงการเหมืองแร่โปแตชที่มีความคืบหน้าตามลำดับ ถือเป็นอีกความหวังของเกษตรกรที่จะได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพดี ราคาถูก และทำให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกในด้านอุตสาหกรรมปุ๋ยเพิ่มขึ้น ต้องรอลุ้นแผนงานเหล่านี้จะเป็นไปได้ตามที่มุ่งหวังหรือไม่

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,733 วันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2564