svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

เกษตรฯ ผ่าแผนใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ จากผลกระทบโควิด

21 กันยายน 2564

“เฉลิมชัย” ผ่าแผนใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ จากผลกระทบโควิด ยกระดับรายได้ ลดต้นทุนเกษตร แก้สินค้าตกต่ำ ผ่านโปรเจ็กต์ อย่างเป็นรูปธรรม วัดผลได้

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

วันที่ 21 กันยายน 2564  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกภาคส่วน ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบของพี่น้องเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

โดยระยะสั้น ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกร ที่ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้ “โครงการแบ่งปันน้ำใจ เกษตรไทยสู้ภัยโควิด-19” ซึ่งดำเนินการแล้ว 264 ครั้ง 46 จังหวัด รวมเป็นมูลค่าสินค้าทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการช่วยกระจายผลผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในแคมเปญ  “เกษตรกรแฮปปี้”  จำนวน 2 เฟส  สามารถช่วยระบาย มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ได้จำนวนมาก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพี่น้องประชาชน ทำให้ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจ และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการขนส่งและเป็นจุดกระจายสินค้า สำหรับระยะยาว กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานโครงการสำคัญหลายโครงการ ภายใต้โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ชำแหละ 8 นโยบายเกษตร ล้มเหลว หรือ สำเร็จ

 

โดยมีโครงการสำคัญหลายโครงการได้แก่ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งมีหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมดำเนินการ และโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินการในแต่ละโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการเป็นไปตามแผนที่ได้วางกรอบเอาไว้เป็นที่น่าพอใจ และพร้อมกำชับให้กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบอย่างต่อเนื่อง

 

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง

 

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการ แบ่งตามแหล่งที่มาของงบประมาณ ประกอบด้วย 1) เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 12 โครงการ

 

เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) และโครงการที่หน่วยงานระดับจังหวัดเสนอขอดำเนินการ เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สมุทรสงคราม) โครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยเชิงการค้าในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (จังหวัดสตูล) เป็นต้น  ผลการดำเนินงานโดยภาพรวม มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 3,029 ล้านบาท คิดเป็น 56.92% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยมีหลายโครงการที่ดำเนินการเบิกจ่ายเสร็จสิ้นแล้ว 

เกษตรไทยสู้โควิด

 

2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร (จังหวัดสมุทรสงคราม) และโครงการโรงเรือนเพาะเห็ดอัจฉริยะ (จังหวัดสระบุรี) ขณะนี้ดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 1.14 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 83.37 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ

 

สำหรับความก้าวหน้าของโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมดำเนินงานหลายหน่วยงาน สำหรับความก้าวหน้าในภาพรวม มีแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,381 แปลง แบ่งเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร 1,065 แปลง กรมการข้าว 2,029 แปลง กรมปศุสัตว์ 109 แปลง กรมประมง 29 แปลง การยางแห่งประเทศไทย 134  แปลง และกรมหม่อนไหม 15 แปลง

 

มันสำปะหลัง

ขณะนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการระดับจังหวัดและดำเนินการจัดทำ MOU กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสินค้าแปลงใหญ่แล้ว 3,379 แปลง คิดเป็น 99.94 % โอนเงินให้กับกลุ่มแปลงใหญ่แล้ว 3,357 แปลง คิดเป็น 99.29 % วงเงินรวม 9,300 ล้านบาท ในจำนวนนี้กลุ่มแปลงใหญ่ได้เบิกจ่ายแล้ว 1,208 แปลง วงเงินรวม 2,179 ล้านบาท หรือ 35.73%

 

สำหรับตัวอย่างผลสำเร็จ ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ดำเนินการจัดซื้อเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ร่วมกันในกลุ่ม ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้กว่า 22% เพิ่มผลผลิตได้ 30% ผลผลิตมีคุณภาพ มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และสามารถขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด

 

ด้าน โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ที่เน้นให้เกษตรกรมีความรู้ที่ถูกต้องด้านการจัดการดินและปุ๋ย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยมีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 394 ศูนย์ใน 63 จังหวัด สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ขณะนี้ดำเนินการทุกกิจกรรมแล้วเสร็จครบ 100% แล้ว โดยใช้งบประมาณ 146 ล้านบาท รวมทั้งยังมีการจัดทำแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” เพื่อให้เกษตรกรทั้งสมาชิกศูนย์และเกษตรกรทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

 

ทั้งการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงดิน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจดินปุ๋ยของศูนย์ เช่น การคำนวณปุ๋ยที่ต้องใช้ตามค่าวิเคราะห์ดิน การให้บริการสั่งจองปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจในการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีลดลงได้ร้อยละ 20 มีต้นทุนลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐในอนาคต

 

ส่วนในด้านการให้บริการเชิงธุรกิจ ถือว่าได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรอย่างดีมาก มีเกษตรกรมาใช้บริการเกินเป้าหมาย ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่มีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและประเทศชาติ และในอนาคตเกษตรกรจะสามารถต่อยอดการทำธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

 

สำหรับตัวอย่างผลสำเร็จ ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ที่มีแผนการพัฒนาต่อยอดธุรกิจดินปุ๋ยของศูนย์ฯ มีการทำโปรโมชั่นเป็นระยะ ๆ เช่น ตรวจวิเคราะห์ดินฟรี การจำหน่ายปุ๋ยในราคายุติธรรม ช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน และสามารถขยายผลการจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้องไปสู่เกษตรกรเครือข่ายจำนวนมาก จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดในการประกวด 1 จังหวัด 1 โมเดลธุรกิจ ปี 2564 อีกด้วย