“โควิด” ดัน “เกษตรกร Happy” ส่ง ลำไย ขายตรงลูกค้า

17 ส.ค. 2564 | 07:27 น.

“เฉลิมชัย” วิ่งสู้ฟัด ดัน  “เกษตรกร Happy” เฟส 2 ใช้เป็นคู่มือ บริหารลำไยภาคเหนือ หลัง เฟส 1 ผลตอบรับดีท้วมท้นจากผู้บริโภค เน้นเกษตรกรทำเกรดพรีเมี่ยม ขายตลาดออนไลน์  บริการลูกค้าช่วงโควิด สมสโลแกน "คนกินยิ้มได้ เกษตรกรไทยแฮปปี้"

โครงการ “เกษตรกร Happy” เฟส1 ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยภายในประเทศ เพิ่มช่องทางการค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และยกระดับราคา เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ภายใต้แนวคิด "คนกินยิ้มได้ เกษตรกรไทยแฮปปี้" และ "คนไทยไม่ทิ้งกัน" ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดีมาก และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน

 

ทำให้สามารถระบายมังคุดออกจากกลไกตลาดและรักษาเสถียรภาพราคาได้ในระดับที่น่าพอใจ และจากความสำเร็จของโครงการ “เกษตรกร Happy” phase 1 ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดตัว “เกษตรกร Happy โครงการ phase 2"  ขึ้น เพื่อช่วยเกษตรกรชาวสวนลำไย เงาะ ลองกอง ในการขายผลไม้คุณภาพดี สดจากสวน ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ซึ่งเป็นกลไกแกนหลัก เร่งดำเนินการกระจายสินค้าออกจากพื้นที่ปลูก

 

เพื่อแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้และภาคเหนือที่ออกกระจุกตัวอย่างเร่งด่วน โดยเน้นการขับเคลื่อนแผนการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และใช้แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทั้งเรื่องราคาและตลาดเป็นตัวอย่าง รวมทั้งยังได้เน้นย้ำเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนิน ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศ  ทำให้ระบบขนส่งเกิดความติดขัด และผู้ส่งออกและล้งลดจำนวนลง ในขณะที่ผลไม้อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ทั้งมังคุด เงาะ ลำไย และลองกอง เป็นต้น

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง

 

สอดคล้องกับ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการลำไยภาคเหนือ ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย เน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพื่อให้ได้ลำไยขนาดผลใหญ่คุณภาพระดับพรีเมี่ยม เกรด AA และเกรด A เหมาะสำหรับการบริโภคผลสดภายในประเทศ โดยไม่เน้นส่งเข้าโรงงานอบแห้งแปรรูปส่งออกประเทศจีน

 

 

การพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับการรับรองคุณภาพตามระบบการจัดการกระบวนการผลิตทางการเกษตร (GAP) ซึ่งมีเกษตรกรได้รับการรับรองทั้งหมด 12,494 ราย 14,400 แปลง พื้นที่รวม 135,595.47 ไร่ ตามระบบ GAP DOA Online รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ผ่าน platform ต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตของตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ทั้งนี้ สถานการณ์และการบริหารจัดการลำไย ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564) พบว่า คาดการณ์ผลผลิตลำไย จำนวน 683,435 ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2564 ประมาณ 394,707 ตัน ส่วนการเก็บเกี่ยวลำไย มีปริมาณเก็บเกี่ยวสะสม จำนวน 415,797 ตัน คิดเป็นร้อยละ 60.84 และยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 267,638 ตัน คิดเป็นร้อยละ 39.16

 

โดยแบ่งเป็น ลำไย (สดช่อ) ประมาณการผลผลิต 241,738 ตัน ปริมาณการเก็บเกี่ยวสะสม 136,682 ตัน คิดเป็นร้อยละ 56.54 ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 105,056 ตัน คิดเป็นร้อยละ 43.46 มีสัดส่วนเกรดลำไยเกรด AA ร้อยละ 15 เกรด A ร้อยละ 25 เกรด AA+A ร้อยละ 47 และต่ำกว่าเกรด A ร้อยละ 13 และ โดยราคาขายเกรด AA กิโลกรัมละ 27 บาท เกรด A กิโลกรัมละ 20 บาท เกรด AA+A กิโลกรัมละ 21 บาท และต่ำกว่าเกรด A กิโลกรัมละ 10-15 บาท

 

ลำไยแบ่งเกรด

 

สำหรับ ลำไย (รูดร่วง) มีประมาณการผลผลิต 441,697 ตัน ปริมาณการเก็บเกี่ยวสะสม 279,115 ตัน คิดเป็นร้อยละ 63.19 ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 162,582 ตัน คิดเป็นร้อยละ 36.81 มีสัดส่วนเกรดลำไย AA ร้อยละ 22  เกรด A ร้อยละ  44 และต่ำกว่าเกรด A ร้อยละ 34 โดยราคาขายเกรด AA กิโลกรัมละ 15 บาท เกรด A กิโลกรัมละ 5 บาท และต่ำกว่าเกรด A กิโลกรัมละ 3 บาท

 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการกระจายผลผลิตลำไย ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบให้เน้นทำการตลาดภายในประเทศ โดยกระจายผลผลิตผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ห้าง Modern Trade ระบบของไปรษณีย์ไทย

 

เดินเครื่อง “เกษตรกร Happy” เฟส 2

การตลาดออนไลน์และตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจัดจำหน่ายตรงผู้บริโภค รณรงค์การบริโภคลำไยในครัวเรือน สนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยเพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิต ประสานงานกับภาคเอกชนและโลจิสติกส์ในการลดค่าขนส่งให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการเชื่อมโยงและกระจายผลผลิตลำไยไปยังจังหวัดปลายทาง และการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรข้ามภาค โดยประสานงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า ลำไย – มังคุด จากภาคใต้เพื่อกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคภายในพื้นที่ภาคเหนือ