“ฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น” จับตาพายุลูกใหม่ เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ 22-28 ก.ย.นี้

16 กันยายน 2564

“กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์” จับตาพายุลูกใหม่ เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ 22-28 ก.ย.นี้ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ คอนเฟิร์ม พายุนี้มาแน่ปลายเดือน ก.ย.นี้ ลุ้นเข้าไทยตอนบน หวังเติมเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ รับน้ำ

นายนพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงไทม์ไลน์พายุลูกใหม่ จากสัปดาห์ที่แล้วเป็นแค่โมเดล ติดตามข้อมูลอยู่ ล่าสุดจากภาพถ่ายดาวเทียมปรากฏเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำอยู่บริเวณทางทิศตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ เริ่มมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตอนนี้ทาง กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) และฟิลิปปินส์ ต่างก็ให้ข้อมูลพายุลูกนี้ว่าจะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นดีเปรสชัน และทวีความร้อนแรง ตามลำดับ

 

มองว่าข้อมูลนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีพายุ ซึ่งหลายสำนักพยากรณ์ มีเรื่องสอดคล้องอยู่อย่างหนึ่ง เกี่ยวกับพายุลูกนี้ 1. ทวีความรุนแรงขึ้น ผ่านประเทศฟิลิปปินส์ แล้วลงมาทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 22-28 กันยายนนี้ เรียกว่ากว่า 90% ให้น้ำหนักทิศทางเดียวกันกับที่เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ แต่ว่าข้อมูลบางสำนักที่ไปไกลกว่า ว่าจะขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม แล้วจะเคลื่อนตัวมาในพื้นที่ภาคอีสาน ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยังไกลเกินไป แต่ก็มีแนวโน้ม มีความเป็นไปได้ ซึ่งยังเป็นข้อมูลระยะไกล

 

พายุเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้

 

นายนพดล กล่าวว่า โดยธรรมชาติของพายุ ถ้าอยู่ในทะเลจะทวีกำลังแรง อย่างตอนนี้อยู่ด้านทิศตะวันออกของฟิลิปปินส์ หมายความว่าอยู่ในทะเล จะมีกำลังเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเล อากาศเอื้ออำนวย พอขึ้นฝั่งก็จะอ่อนกำลังลง จะเคลื่อนผ่าน จะลงสู่ทะเลจีนใต้ พอลงทะเลจะต้องดูพายุอีกครั้งว่าจะพัฒนา หรือจะมีมวลอากาศเย็นจากข้างบนลงมาให้ฝ่อตัว จะต้องดูในระยะใกล้อีกครั้ง

“พูดง่ายให้สังคมเข้าใจได้ว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว  พายุลูกนี้คาดการณ์ว่าจะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม ส่วนจะทวีความรุนแรงแค่ไหนต้องติดตาม แต่แนวโน้มเป็นไปได้ค่อนข้างสูงปลายเดือนกันยายนนี้ มีประเทศไทยมีพายุเข้าแน่นอน และมีความหวังมากกว่าพายุโกเซิน”

 

แต่ขอให้เข้าทางตอนบนเนื่องจากในขณะนี้เรามีปัญหาน้ำน้อย ในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ ที่ตอนนี้วิกฤติน้ำอยู่ แต่หากเข้ามาตอนล่าง ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะเป็นเรื่อง เพราะปัจจุบันน้ำก็ยังท่วมอยู่  ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก อีสานตอนล่าง พายุเข้ามาเดือดร้อนกันแน่นอน เพราะฝนตกท้ายเขื่อน “

 

ที่สำคัญต้องไปดูอีกปัจจัยหนึ่งพายุที่เข้ามาในช่วงปลายเดือนกันยายน “พายุตาลัส”  ปี2560 จะคล้ายในทำนองนี้ พายุเข้ามาทางตอนล่าง หมายความว่าสถิติพายุที่เข้ามาในช่วงปลายเดือนกันยายน ตุลาคม จะเข้ามาทางตอนล่างของประเทศไทย เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามพายุลูกนี้อย่างใกล้ชิด 

 

 

อย่างไรก็ดี องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเหนือพื้นดินจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2564 โดยเฉพาะในซีกโลกเหนือ และยังรายงานด้วยว่า  ปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่อ่อนแอกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง !!!

 

ความเสี่ยงที่การคาดการณ์รูปแบบฝนอาจทำให้ความแห้งแล้งรุนแรงขึ้นในบางส่วนของโลกและเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมหนัก

 

"ลานีญา" คือการเย็นลงของอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของบรรยากาศในเขตร้อน ได้แก่ ลม ความกดอากาศ ปริมาณน้ำฝน