ล้ง "ทุเรียน"  ผวาประวัติศาสตร์ซ้ำรอย "ลำไย" จีนแบน

13 ส.ค. 2564 | 09:42 น.

“เพลี้ยแป้ง” ฆาตรกร ดับอนาคต “ลำไย” สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ระบุโพสต์  สถานีต่อไป “จีน” เล็งแบนทุเรียนไทย ผวาประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ปลุก ล้ง-ชาวสวนปกป้องตลาด ก่อนสายเกินไป

นายณัฐกฤษฏ์ โอฬารหิรัญรักษ์ ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ประสงค์ดี อ.เนินสูง จังหวัดจันทบุรี และในฐานะรองนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค  สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด หวังว่าภาพเช่นนี้ คงไม่เกิดกับทุเรียน  ปัญหาหลักคือตัวเดียวกัน นั่นคือ “เพลี้ยแป้ง” ตอนนี้ล้งลำไยถูกสั่งปิด 66 ล้ง และ สวนถูกระงับการส่งออกไม่ต่ำกว่า 100 สวน  ทางการจีนเตือนมาที่ไทยแล้วไม่ใช่น้อย เกี่ยวกับเพลี้ยแป้งในทุเรียน ถึงเวลาที่เราต้องตะหนักกันแล้วเพื่ออนาคตทุเรียนไทย ที่ตอนนี้เราเองก็ถูกหมายตาไว้แล้วเช่นกัน

 

เพลี้ยแป้ง

 

ทุกฝ่ายของต้นน้ำไม่ควรนิ่งเฉย เพราะถ้าภาระมาตกหนักที่ล้งและด่านตรวจพืช อนาคตอาจมีมาตราการที่ไม่คาดฝันได้ ดังนั้นวันนี้ยังมีเวลาแก้ไขปรัปปรุง ก็สมควรทำเสียตอนที่ยังมีโอกาส ตรงนี้ฝากถึงเกษตรกรชาวสวนทุเรียนโดยตรง การคาดหมาย จำนวนตู้ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ปัญหาเพิ่มขึ้นรอบทิศทาง  เตรียมรับแรงกระแทกอย่างรุนแรง

 

ทำไมราคา "ลำไย" จึงรูด และคงจะปลุกไม่ขึ้นเนื่องจากผลผลิตที่จีนตอนใต้ ไหหลำ ไต้หวัน เวียดนาม ออกมาก หลายคนไม่เชื่อ ว่าไปต่าง ๆ นา ๆ และข้อมูลทึ่นำเสนอต่อไปนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาลำไยในปีนี้ตกอีกอย่างไม่เป็นท่า เห็นที่จะต้องแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง และน้ำเชื่อมลำไย แทน

 

เมืองเหมาหมิง (Maoming) ในมลฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตลำไยที่ใหญ่ที่สุดของจีน กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีปริมาณมากออกสู่ตลาด  ในปีนี้ พื้นที่ดังกล่าวมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 490,000 ตัน  ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานในการปลูกลำไย ทำให้เป็นพื้นที่การเพาะปลูกลำไยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 790,000 หมู่ (329,167 ไร่) โดยพันธุ์ที่ปลูกคือพันธุ์ ชูเหลียง(Chuliang) อยู่ในกลุ่มลำไยพันธุ์กระโหลกหรือลำไยแห้ง และ พันธุ์จีเซี๊ย (Shixia) อยู่กลุ่มลำไยน้ำที่มีเนื้อแฉะ

ลำไย

เมืองเหมาหมิงยังเป็นแหล่งกำเนิดของพันธุ์ชูเหลียง ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา พันธุ์นี้ได้รับความนิยมจากการต่อกิ่งและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นๆ  มีพื้นที่ปลูกทั่วโลกเกิน 2.5 ล้านหมู่ (1.041 ล้านไร่) ครอบคลุมฝูเจี้ยน กวางสี ไหหลำ ยูนนาน เสฉวน กุ้ยโจว ไต้หวัน และที่อื่น ๆ รวมทั้งเวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย และลาว ทำให้มีผลผลิตมากที่สุด  เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกในจีนและทั่วโลก

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคนิคที่ใช้ในการทำนอกฤดูได้รับความนิยมอย่างเต็มที่ โดยสามารถขยายระยะเวลาการออกดอกและระยะเวลาการเก็บเกี่ยวออกตลาดออกไปหนึ่งเดือน ซึ่งสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องของเวลาระหว่างการทำต้นฤดู กลางฤดู และปลายฤดู  ในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี 

 

โดยในช่วงต้นฤดูกาลผลิตลำไยของเมืองเหมาหมิง ราคาซื้อลำไยชูเซี๊ยในขณะนั้นจะสูงถึง 30 หยวนต่อกิโลกรัม(140 บาท/กิโลกรัม) และลำไยพันธุ์จี้เซี๊ยจะมีราคาสูงถึง 20 หยวนต่อกิโลกรัม(96บาท/กิโลกรัม) และราคาจะเริ่มลดลงเมื่อมีผลผลิตออกมากขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

 

นอกจากนี้ปริมาณการส่งออกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้  เกือบ 4,000 ตันถูกส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่รู้ว่าส่งไปขายที่สิงคโปร์ หรือเปล่า แต่คงไม่ส่งมาขายไทยแน่ ๆ

 

ดังนั้น การจะปลูกไม้ผลอะไรก็แล้ว ต้องรู้ข้อมูลว่านอกจากประเทศไทยแล้วมีประเทศใดบ้างที่ปลูกได้ และมีศักยภาพในการแข่งขันกับเรา และผลผลิตเขาออกเมื่อใด เพื่อวางแผนการผลิตไม่ให้เก็บเกี่ยวผลผลิตชนกับเขา ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาปลูกตามกระแสเรื่อยเปื่อยไป แบบนี้ต่อให้ทำทั้งชีวิตก็ไม่เหลือ ไปรวยที่คนขายปุ๋ยขายสารเคมี เพราะพอใกล้ฤดูทีเขาก็ปั่นตลาดที  ก็เข้าใจว่าใครก็อยากรวย

 

แต่การทำการเกษตรยุคนี้ในโลกที่มีการแข่งขันที่รุนแรงเกษตรกรจำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอ แต่แม้ว่าจะมีข้อมูลมันก็อาจจะผิดได้เช่นกัน เพราะการเกษตรมีปัจจัยผันแปรมากมายเช่น สภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติต่าง ๆ โรคระบาด หรือแม้แต่การเมือง มันก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เอาไปเอาก็มาลงที่ “ดวง” ซึ่งไม่ใช่วิทยาศาสตร์เสียแล้ว