นักธุรกิจ"เหนือ-อีสาน-ใต้"มองเศรษฐกิจไตรมาส3‘ไร้แววฟื้น’

13 ส.ค. 2564 | 04:11 น.

    การระบาดเชื้อโควิด- 19 ระลอกล่าสุด กระหนํ่าภาคธุรกิจไทยหนักหน่วงและกว้างขวางกว่า 2 ระลอกแรก ไม่เห็นอนาคต เป็นปัจจัยลบกดความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป นักธุรกิจหัวเมือง3ภูมิภาค(เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้)มองลบ ไตรมาส3หดตัวต่อ

รายงานภาวะธุรกิจไตรมาส 2/2564 และแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 3/2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประมวลผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการสาขาต่างๆ 200 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในเดือนก.ค. 2564 ที่รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดง เข้ม 29  จังหวัด
    

ภาคธุรกิจมองว่า หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ฐานตํ่า เพราะมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ(เม.ย.-มิ.ย. 2563) เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 จะขยายตัวได้เล็กน้อย โดยผู้ประกอบการในภาคอสังหาฯ ที่บอกว่ารายได้เพิ่มมากกว่าที่ลดลง มี 38% ในภาคผลิตมี 31% และภาคค้าปลีก 13% มีเพียงภาคบริการ ที่ระบุรายได้หดตัวลง (-3%) 
    

แต่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มเห็นตรงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มทางลบ โดยหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ม.ค.-มิ.ย. 2564 ช่วงโควิด ระลอก2 จากคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร) เศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 หดตัวลง จากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ และต่อด้วยเชื้อกลายพันธุ์เดลตา
    
โดยกลุ่มค้าปลีกรายได้ลดลงจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อที่ปรับตัวแย่ลง จากมาตรการควบคุมการระบาด กลุ่มภาคการผลิตหดตัวจากการระบาดที่ลามเข้าโรงงานและอุปสงค์ในประเทศเริ่มปักหัวลง และภาคอสังหาฯ จากกำลังซื้อที่อ่อนตัวลง การปิดแคมป์ ทำให้ส่งมอบงานล่าช้า ส่วนภาคบริการนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ซํ้าเติมผลกระทบที่มีให้รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ 60% ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น
ภาพรวมธุรกิจและแนวโน้มในมุมมองนักธุรกิจ     

ส่วนมุมมองต่ออนาคตเศรษฐกิจในระยะถัดไป นักธุรกิจในหัวเมือง 3 ภูมิภาค คือ เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้(ก.ค.-ก.ย. 2564) ซึ่งการระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกล่าสุดยังอึมครึม ยังคงหดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (ก.ค.-ก.ย. 2563) ที่เป็นช่วงคลี่คลายหลังระบาดระลอก 1 และเร่งขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
    

ธุรกิจภาคเหนือมองว่ามีแนวโน้มแย่ลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และข้อจำกัดการกระจายวัคซีนจากส่วนกลางมาภูมิภาคส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ธุรกิจบริการและท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
    

สอดคล้องกับธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ล่าช้าและมีความไม่แน่นอนสูง จากผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนาและการฉีดวัคซีนไม่เข้าเป้า
    

เช่นกันธุรกิจภาคใต้ก็มองว่าภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังหดตัวต่อเนื่อง จากการระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อ กดธุรกิจบริการท่องเที่ยว การค้า และอสังหาฯ ส่วนภาคผลิตเพื่อส่งออกเจอปัจจัยลบจากการระบาดลามเข้าโรงงานค่าระวางเรือสูง การล็อกดาวน์มาเลเซียก็ยาวกว่าที่คาด โดยมีปัจจัยบวกเล็กๆ จากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นบ้างจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลายพื้นที่ของภาคใต้
    
มีเพียงมุมมองของธุรกิจในภาคกลาง และในภาพรวมทั้งประเทศ ที่ยังพอมีความหวัง ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปีนี้จะฟื้น โดยคาดจะกลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า จากการ กระจายวัคซีนที่เพิ่มขึ้น การส่งออกยังฟื้นตามเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นของรัฐที่ทยอยออกมา แต่ปัจจัยเสี่ยงการฟื้นตัวยังคงมี อาทิ ไวรัสกลายพันธุ์ การเปิดประเทศถูกลากยาว การระบาดในโรงงาน ขาดตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์กระทบสายพานการผลิต เป็นต้น
    

ทั้งนี้ นักธุรกิจทุกภาคทั่วประเทศ มีความเห็นต่อเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีนี้ในทิศทางเดียวกันว่าขยายตัวเล็กน้อย เทียบไตรมาส 2 ปีที่แล้ว นั่นคือ ช่วงต้นไตรมาส 2 (เม.ย. 2564) เพิ่งเริ่มต้นการระบาดระลอก 3 ซึ่งต่อเนื่องจากระลอก 2 จากคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งมหาชัย ที่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้เช่นเดียวกับระลอก 1 จึงยังเชื่อมั่นว่าจะควบคุมได้ในที่สุด ประกอบกับเมื่อเทียบช่วงเม.ย.-มิ.ย. 2563 เป็นช่วงล็อกดาวน์ทั่วประเทศในการระบาดรอบแรก ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก ทำให้ฐานตัวเลขตํ่า จึงเห็นฟ้องกันว่าเทียบแล้วยังขยายตัวเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
    

แต่มุมมองต่ออนาคตเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2564 นักธุรกิจมองต่างมุม โดยนักธุรกิจ 3 ภูมิภาคทั้งเหนือ อีสาน และใต้ มองมุมลบว่า ยังหดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากยังไม่เห็นอนาคตการคุมการระบาดระลอกล่าสุด ยิ่งเทียบกับไตรมาส 3/ 2563 ที่คุมการระบาดระลอก 1 ได้แล้ว อยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่ตัวเลขฐานปรับสูงขึ้นบ้างแล้ว
    

ขณะที่นักธุรกิจภาคกลางและในภาพรวม ที่มองมุมบวกว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวเล็กน้อยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะเดินเครื่องได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อาจจะด้วยแนวทางล็อกดาวน์แบบจำกัด ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจยังพอขยับ เมื่อมีความชัดเจนการคุมเชื้อโควิด-19 รอบล่าสุดนี้ ก็พร้อมเร่งเครื่องได้ทันที
    

ของจริงจะเป็นแบบไหน ขึ้นกับผลสำเร็จการ “คุมระบาดเชื้อโควิด-19” ที่วันนี้ยังวัดกำลังกันอยู่ 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,705 วันที่ 15-18 สิงหาคม พ.ศ.2564