"ธปท."แจง8ข้อวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเหนือฝ่าภัยโควิด-19

12 ส.ค. 2564 | 08:26 น.

โควิด-19รอบใหม่ซัดเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 2/2564 หดตัว ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ธปท.เหนือแจงธุรกิจบริการ ท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเจ็บหนักสุด ภาคเกษตรและผลิตเพื่อส่งออกยังพอไปได้ แต่แบกภาระหนักจากสมาชิกในครอบครัวตกงาน-รายได้ลด แนะเร่งยกระดับทักษะใหม่ที่ตลาดต้องการ

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ ให้สัมภาษณ์ ฉายภาพรวมเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2/2564 และแนวโน้มไตรมาส 3/2564 และประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจภาคเหนือ ดังนี้ 

1) สรุปภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2564 และแนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2564
 ภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 2/2564 (เม.ย.-มิ.ย.2564)  หดตัวจากไตรมาสก่อน ภาคเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน คือ ภาคการท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกสาม 
   นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ  

ส่วนภาคเศรษฐกิจที่ช่วยขับเคลื่อนในช่วงนี้ คือภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ยังพอไปได้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ภาคธุรกิจยังขาดความมั่นใจในการลงทุน แต่หากเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจภาคเหนือแม้จะปรับลดลงเช่นเดียวกับประเทศ แต่ยังดีกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อของภาคเหนือน้อยกว่า ประกอบกับปัจจัยสนับสนุน คือรายได้เกษตรของภาคเหนือยังขยายตัวดี ส่งผลให้เศรษฐกิจของภาคเหนือยังดีกว่าประเทศโดยรวม
    

มองไปข้างหน้า การท่องเที่ยวของภาคเหนือคาดว่ายังถูกกระทบต่อไปในไตรมาส 3/2564 จนถึงต้นไตรมาส 4/2564 และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 4/2564 แต่ภายใต้เงื่อนไขว่า อัตราการฉีดวัคซีนของทั้งประเทศขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 70-80 เพราะนักท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือคือคนไทยกันเอง การควบคุมการระบาดให้ได้ก่อนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ 
    

ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงมี 2 เรื่องที่จะมากระทบ คือ (1) การจ้างงานที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกแรก โดยเฉพาะการจ้างงานภาคบริการในเมืองท่องเที่ยว  (2) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal loan) เนื่องจากประชาชนมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในช่วงที่ขาดสภาพคล่อง สองประเด็นนี้จะฉุดให้การฟื้นตัวของการบริโภคระยะต่อไปเป็นไปได้ช้า 
    

อย่างไรก็ดี การผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังมีทิศทางที่ดี ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จุดสำคัญของภาคเหนือจากวันนี้ไปจนถึงสิ้นปี คือ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ในระหว่างนี้ยังคงต้องพึ่งมาตรการภาครัฐมาช่วยพยุงกำลังซื้อในช่วงที่รายได้ประชาชนลดลง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ
    
2) ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและสัดส่วนรายได้ที่หายไป
 นายธาริฑธิ์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่รายได้หายไปมาก โรงแรมมีอัตราการเข้าพักเหลือเพียง 10% ซึ่งปกติแล้วอัตราการเข้าพักที่ถึงจุดคุ้มทุน หรือเริ่มมีกำไรจะอยู่ที่ 40% ปัจจุบันรายได้ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในปัจจุบันเหลือเพียง 10% ของปกติเท่านั้น

3) เชียงใหม่ Sandbox จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และแนวโน้มในช่วง High Season จะเป็นอย่างไร
 ถ้าการฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึงก็ถือว่ามีความท้าทายสูง เพราะคนจะไม่กล้าเดินทางมา ประกอบกับผู้ประกอบการที่จะให้บริการได้ต้องได้มาตรฐาน SHA+ ปัจจุบันยังมีน้อย และการจำกัดพื้นที่ sealed route ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากเชียงใหม่ Sandbox อาจยังไม่มากนัก
    

ความสำเร็จของเชียงใหม่ sandbox ในช่วง High Season ขึ้นอยู่กับการตั้งเป้าหมาย หากตั้งเป้าว่าคนจะเข้ามาไม่มากนักและพอบริหารจัดการได้ เช่น กลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเล่นกอล์ฟหรือสปา จะอยู่ในบริเวณที่จำกัด รายได้กระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้นก็สามารถทำได้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการปรับตัวสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวใหม่ แต่หากตั้งเป้าว่าคนจะเข้ามามาก อาจต้องรอให้มีการฉีดวัคซีนให้สูงขึ้นกว่านี้ก่อน

\"ธปท.\"แจง8ข้อวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเหนือฝ่าภัยโควิด-19

\"ธปท.\"แจง8ข้อวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเหนือฝ่าภัยโควิด-19

4) ตัวเลขธุรกิจโรงแรมที่ประสบปัญหาหรือเลิกกิจการถาวร และมูลค่ารายได้ที่สูญเสียไปในกลุ่มธุรกิจโรงแรม
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคเหนือ ชี้ด้วยว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม Upscale (โรงแรมระดับ 4-5 ดาว) ร้อยละ 70 ต้องปิดกิจการชั่วคราวและถาวร ส่วนกลุ่มโรงแรมราคาประหยัดหรือ Budget พวกเกสต์เฮ้าส์ พึ่งพิงนักท่องเที่ยวกลุ่ม backpacker นักท่องเที่ยวชาวจีน ก็เห็นปิดตัวลงไปมาก
    

มูลค่ารายได้ที่เสียไปหากเปรียบเทียบในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 จังหวัดเชียงใหม่ถูกขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวมากถึง 42% ของผลิตภัณฑ์จังหวัดเชียงใหม่ (Gross Provincial Product: GPP จังหวัดเชียงใหม่) มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 11 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี การแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ลดลงมากกว่าครึ่งในปี 2563 หรือสูญเสียรายได้ไปกว่า 6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 (โรงแรมมีรายได้คิดเป็น 96% ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด)

5) แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่
    ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นอีกภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ ในช่วงที่ผ่านมามีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก ธอส. มาช่วยในกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้มีปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อโครงการนี้หมดไปภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องพึ่งพาความต้องการซื้อที่แท้จริง (Real demand) โดยกลุ่มที่ยังมีความต้องการซื้อคือกลุ่มผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง กลุ่มอาชีพที่มีความมั่นคง เช่น แพทย์ ข้าราชการ เป็นต้น 
    

ดังนั้น แนวโน้มต่อไปผู้ประกอบการในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องพิจารณาถึงกำลังซื้อที่แท้จริงก่อนตัดสินใจลงทุน ขณะที่ภาพล่าสุดเครื่องชี้การลงทุนก่อสร้างของภาคเหนือ ไตรมาส 2/2564 หดตัว โดยพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยหดตัวร้อยละ 2.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน และยอดขายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ 7.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับการประเมินภาวะการลงทุนเพื่อก่อสร้างไตรมาส 3-4/2564 คาดว่าลดลง 8 % และ 6 % ตามลำดับ

6) โอกาสของเศรษฐกิจภาคเหนือ
    นายธาริฑธิ์ ขยายความต่อว่า เศรษฐกิจภาคเหนือคาดว่าได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากการระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เร็ว เช่น Facebook Movement Range ที่แสดงการเคลื่อนไหวของคน และ SiteMinder ที่แสดงการจองห้องพักปรับลดลงเร็วหลังการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น และทางการเริ่มใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ     อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรภาคเหนือคาดว่าขยายตัวได้ แต่จะชะลอลงบ้างจากด้านราคา ทั้งข้าวนาปีและลำไยที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว

 

ทั้งนี้ การเร่งกระจายวัคซีนให้เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัว และมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป
    

โดยสรุปกลุ่มที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดีคือ ภาคเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวได้จากผลผลิตพืชสำคัญ เช่น ข้าวนาปี และลำไย ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว แต่การเติบโตจะเป็นแบบค่อย ๆ ไปต่อเนื่อง ไม่ได้ก้าวกระโดด เพราะเศรษฐกิจโลกก็ไม่ได้โตมากเหมือนก่อนโควิด-19 

\"ธปท.\"แจง8ข้อวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเหนือฝ่าภัยโควิด-19

\"ธปท.\"แจง8ข้อวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเหนือฝ่าภัยโควิด-19

7) ผลกระทบของ COVID-19 ต่อภาระหนี้ของครัวเรือนภาคเหนือ
หนี้ที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal loan) สินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ถึงร้อยละ 10.5 เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงขาดรายได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับฐานะครัวเรือนภาคเหนือไม่ใช้เรื่องหนี้ แต่เป็นเรื่องของรายได้ที่หายไป สะท้อนจากภาวะการจ้างงานในกลุ่มภาคบริการ ที่รวมธุรกิจโรงแรม นำเที่ยว และร้านอาหาร ที่ก่อนโควิด-19 มีการจ้างงานประมาณ 4.3 แสนคน แต่ปัจจุบันเหลือการจ้างงานอยู่ 3.8 แสนคน 
    

โดยผู้ถูกเลิกจ้างทั้งแรงงานในพื้นที่และแรงงานคืนถิ่นที่กลับมาจากส่วนกลาง ส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ภาคเกษตร สะท้อนจากแรงงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านคน ในไตรมาส 1/2563 เป็น 2.7 ล้านคน ในไตรมาส 2/2564 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ย ผู้ประกอบอาชีพในภาคเกษตรมีรายได้เฉลี่ย 5,524 บาทต่อเดือน ต่ำกว่าพนักงานภาคบริการ เช่น โรงแรม ที่รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,476 บาทต่อเดือน ทำให้รายได้ครัวเรือนในปัจจุบันน้อยลง
    

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรมก็เผชิญความท้าทาย ไม่เฉพาะเรื่องของโควิด-19  แต่เป็นแนวโน้มการใช้ Automation เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานในกลุ่มนี้ลดลงจาก จาก 5.9 แสนคน ในไตรมาส 1/2563 เหลือ 5.2 แสนคน ในไตรมาส 2/2564  ทิศทางเช่นนี้อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องอีก ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความท้าทายที่จะต้องปรับตัว
    

โดยสรุปครัวเรือนเผชิญความท้าทายมากขึ้น มองไปข้างหน้าในภาคบริการถ้าการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาได้เร็ว บางส่วนคงต้องมองการ upskill & reskill ไปสู่อาชีพอื่น สำหรับครัวเรือนภาคเกษตรระยะยาวต้องปรับตัวมุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ครัวเรือนในภาคอุตสาหกรรมอาจต้อง reskill เพื่อรองรับแนวโน้ม automation ต่อไป สำหรับจำนวนแรงงานว่างงานข้อมูลล่าสุด ไตรมาส 2/2564 มีจำนวน 115,800 คน และอัตราการว่างงานอยูที่ 1.9%

8) มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและสถาบันการเงิน การให้ความช่วยเหลือ SMEs และ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากทางภาครัฐและธปท.
สถานการณ์ที่ธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโควิด-19  ธปท. ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯและนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป 
    

ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ โดยสามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564
    

ส่วนลูกหนี้รายย่อย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท คือ 
    (1) บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล : ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง 
    (2) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ 
    (3) เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้     

   (4) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน : เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
    

สิ่งที่ทำไปคือได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปเยอะ ถ้าเป็นลูกหนี้รายย่อย credit card และ p-loan ปรับไปแล้ว 3.4 ล้านบัญชี มูลค่า 8 แสนล้านบาท ถ้าเป็นเรื่องสินเชื่อฟื้นฟูในส่วนของภาคเหนือปล่อยไปแล้ว 8,217ล้านบาท 3,946 ราย เฉลี่ย 2.1 ล้านบาท/ราย ส่วนที่คืบหน้าไปมากคือ การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถผ่านพ้นวิกฤติช่วงนี้

\"ธปท.\"แจง8ข้อวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเหนือฝ่าภัยโควิด-19