อคส.เร่งสาง 1,300 คดี ค่า 5 แสนล้าน พิษถุงมือยางทำแผนหารายได้ชะงัก

06 ส.ค. 2564 | 04:52 น.

 อคส.เร่งสางทุจริตถุงมือยาง ยันแม้ “รุ่งโรจน์” ยื่นหนังสือลาออกแต่ยังไม่เซ็น ชี้เป็นตามระเบียบกรณีถูกกล่าวหา เผย 2 คณะกรรมการอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเอาผิด  พร้อมเดินหน้าสางคดีค้างเก่ากว่า 1,300 คดีค่ากว่า 5 แสนล้าน ขณะแผนหารายได้ชะงักหลังบอร์ดไม่กล้าเซ็นอนุมัติ

 กรณีที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง องค์การคลังสินค้า (อคส.) ตัวแทน อคส.ที่เป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายถุงมือยางได้ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นพนักงานของ อคส.นั้น

 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อคส.ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ในฐานะผอ.อคส.ยังไม่มีการเซ็นอนุมัติเนื่องจากมีกฎระเบียบห้ามไว้ กรณีที่มีการถูกกล่าวหาว่าทำผิดคดีอาญา  ประกอบกับการดำเนินคดีในโครงการจัดซื้อถุงมือยางของ อคส.ที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์  มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบวินัยร้ายแรงผู้เกี่ยวข้อง และยังได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบทางละเมิดเพื่อให้มีการดำเนินการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ อคส.ด้วย ซึ่งตามระเบียบการยื่นขอลาออกไม่สามารถทำได้ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด

อคส.เร่งสาง 1,300 คดี  ค่า 5 แสนล้าน พิษถุงมือยางทำแผนหารายได้ชะงัก

 “การลาออกยังไม่มีผล กระบวนการต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 คณะที่กำลังดำเนินการอยู่ คือคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ที่มีโทษคือให้ออก ไล่ออก กับคณะกรรมการสอบสวนการละเมิด ซึ่งเป็นคณะที่เรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากผู้กระทำผิด โดยทั้ง 2 คณะอยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เนื่องจากช่วงนี้คณะกรรมการทำงานผ่านออนไลน์ ดังนั้นอาจมีความไม่สะดวกแต่ก็เร่งทำงานกันอย่างเต็มที่”

 ส่วนการทวงเงิน 2,000 ล้านบาท (ค่ามัดจำถุงมือยาง) นั้น มี 3 แนวทาง คือ ผ่านป.ป.ช.ที่ฟ้องเรื่องคดีอาญา ป.ป.ง.ฟ้องแพ่ง และอคส.ที่ฟ้องละเมิด ซึ่งการฟ้องมูลค่าการเรียกค่าเสียหายมากกว่า 2,000 ล้านบาทแต่จะได้เท่าไหร่ต้องรอคดีถึงที่สุดก่อน ส่วนกรณีประธานบอร์ด อคส.ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้ยังไม่ลาออก ส่งผลให้การขออนุมัติแผนการหารายได้ที่อคส.เสนอไปยังไม่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดยังไม่กล้าเซ็น”

 สำหรับแผนงานในปี 2565 อคส.มีแผนจะขยายสาขาคลังสินค้า โดยมีความเป็นไปได้ในกลุ่มสัตว์น้ำและห้องเย็นในต่างจังหวัด ซึ่งจะมีการพัฒนานวัตกรรมการคัดขนาดสัตว์น้ำเพื่อลดปัญหาการพึ่งพาแรงงานและปัญหาสุขอนามัย รวมถึงการแพร่เชื้อของโรคระบาด ในขณะที่กลุ่มข้าวและสินค้าเกษตร ได้รับการประสานจากหน่วยราชการหลายจังหวัด ให้เข้าไปศึกษาและพัฒนาร่วมกันตามแนว ทางยุทธศาสตร์แก้มลิง เช่น ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส และสมุทรปราการ

 ส่วนแผนระยะยาวปี 2565-2570  อคส. ตั้งเป้าปั้นคลังราษฎร์ บูรณะ ให้เป็นคลังห้องเย็นที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ภายในปี 2567 จะสร้างรายได้ให้ อคส. ร่วม 400 ล้านบาท รวมทั้งจะช่วยให้อคส.มีรายได้หลังขาดทุนซ้ำซากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังผลักดันให้ส่วนงานใน อคส. เร่งขยายช่องทางจำหน่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มจำนวนสินค้าที่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง

 กรณีที่ อคส. เดินหน้าสางคดีค้างเก่ากว่า 1,300 คดี คิดเป็นความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรัง ตั้งแต่ปีการผลิต 2554-2557 ระหว่างเจ้าของคลังกับอคส. คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 494,198 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) อคส.มั่นใจว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะคดี แต่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายครบถ้วนหรือไม่ต้องรอดูเพราะเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก, โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2551/52, ปี 2554/55 และปี 2556/57 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรณีเสื่อมสภาพ หรือสูญหาย รวมกว่า 200 คดี มูลค่าความเสียหาย 18,723 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดให้ชดใช้ความเสียหาย

 ความคืบหน้าการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาทนั้น ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหา และแก้ข้อกล่าวหาแล้ว คาดจะสรุปสำนวนและส่งอัยการฟ้องดำเนินคดีอาญาได้ในเร็ว ๆ นี้