ผ่าวิกฤติ “มังคุด” ราคาตก ซื้อแจกผู้ป่วยโควิดกว่าแสนคน

26 ก.ค. 2564 | 11:39 น.

นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้และส่งออกผลไม้ไทย แนะรัฐ ซื้อ “มังคุด” ผ่านสหกรณ์-เอกชน แจกผู้ป่วยโควิดผ่านศูนย์ทั้งประเทศ  ขณะที่ นายอำเภอท่าศาลา ชี้เป้าปัญหาใหญ่เกินระดับจังหวัดจะแก้ไข ต้องให้ส่วนกลาง ผ่าตัดปัญหาให้เกษตรกรไทย กันล้งผลไม้เบี้ยว นัดแล้วไม่มาตามนัด

จากการแพร่ระบาด"ไวรัสโควิด" ระลอกใหม่โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมทำให้มีการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ที่เข้มข้นมากกว่าเดิมโดยทางการจีน เวียดนาม รวมทั้งไทยส่งต่อการค้าการขนส่งและการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย นั้นประสบปัญหา

 

ตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้จึงได้จัดประชุมทางไกลเร่งด่วนและประสานการทำงานกับสำนักงานเกษตรของไทยในจีนรวมทั้งสมาคมผู้ประกอบการค้าผลไม้ที่มีสมาชิกกว่า 900 ล้ง และ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยสรุปปัญหาล่าสุดและกำหนดมาตรการเพิ่มเติม 7 ประการดังนี้

 

1.เร่งการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์กลับจากจีนและเวียดนามทั้งการขนส่งทางบกและทางเรือให้หมุนเวียนกลับมาไทยเร็วที่สุด

 

2.ขอการสนับสนุนจาก”ศบค.”จัดหาวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 30,000 โด้สให้แก่พนักงานและแรงงานของบริษัทส่งออกและล้งตลอดห่วงโซ่ผลไม้เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของล้งและบริษัทส่งออก

 

3.ผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิดและอำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าและล้งจากภาคตะวันออกซึ่งมีกว่า 900 ล้ง สามารถเข้าไปรับซื้อผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น

 

4.เร่งรณรงค์การบริโภคผลไม้ภายในประเทศ

 

5.ขยายการค้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม(B2C B2B B2F B2G)

 

6.เร่งระบายจำหน่ายผลไม้ออกจากพื้นที่กระจายทุกช่องทางโดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและภาครัฐ

 

7.สนับสนุนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.)และหน่วยงานภาครัฐเร่งขับเคลื่อนมาตรการตามที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้จากคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ ทั้งแผนงานและงบประมาณตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้


 

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี

 

ล่าสุด นายสัญชัย  ปุรณะชัยคีรี นายสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่านับถอยหลังสถานการณ์มังคุด อีก 5 วัน จะวิกฤติทั้งแผ่นดิน แล้วมาตรการที่ออกมา 7 ข้อ ใช้ได้ข้อเดียวก็คือ ข้อที่ 4  ที่เหลือไม่ได้เรื่องสักข้อเลย จะให้ล้งไปซื้อแล้วจะให้ไปขายที่ไหน

 

"ตอนนี้มังคุดท่วมหมดแล้ว จะแจกเงินคนละ 1 ล้านหรือ ตลาดไทยก็ไม่มีคน จะไปขายที่ไหน จะมาบอกว่าให้รถวิ่งเร็วขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริง หลอกชาวบ้านไปวันๆ ที่มีข่าวว่าล้งเบี้ยว ก็เพราะว่าล้งไปรับซื้อแล้วไม่รู้จะไปขายที่ไหน ตลาดส่งออกมีแต่รถไม่มีวิ่ง รถคอนเทรนเนอร์บกติดอยู่ชายแดนหมด"

 

ปัญหานี้แก้ไม่ได้ เพราะ

 

  1. มังคุดออกปริมาณเยอะมาก ตั้งแต่จังหวัดชุมพร หลังสวนไปถึงนราธิวาสออกพร้อมกันหมดโควิด  ตลาดในประเทศไม่มีกำลังซื้อ และศูนย์กระจายสินค้าที่เป็นตลาดสดทั้งหลาย ถูกปิดลงไปจำนวนมาก ประกอบกับคนไม่ค่อยออกมาซื้อของ

   2.รถบรรทุกคอนเทรนเนอร์ที่ส่งออก ปกติใข้เวลาประมาณ 5 วัน ก็ถือชายแดนแล้ว ก็ต้องคอยตรวจโควิด จอดคิว รวมแล้ว 4-5 วัน ก็กลายเป็นว่า รถที่ไปส่ง 1 คัน ใช้เวลา 10 วัน ทำให้รถจาก 5 วัน เป็น 10 วัน ยกตัวอย่าง รถมีจำนวน 800 เที่ยวก็เหลือ 400 เที่ยว จาก ปัญหาดังกล่าวนี้ เพราะเวลาที่ใช้เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณรถหายไปมาก จากที่จะไปต้องรอคอยตรวจโควิด

   3. รถที่รับส่งผลไม้ วิ่งไกลขึ้น เพราะจากจังหวัดจันทบุรี ไปมุกดาหาร หรือ ห้วยทราย ระยะทางไม่ได้ไกลมาก วิ่งภายใน 3 ชั่วโมงก็ถือ แต่วันนี้มาวิ่งจากนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ  500-600 กิโลเมตร  ก็ทำให้เวลาเพิ่มขึ้นอีก

 

นายสัญชัย   กล่าวว่า ไม่หนักเท่าปัญหาชายแดน  รถติดที่ชายแดนแล้วกลับมาไม่ได้ ปัญหาแก้อย่างไร ภาครัฐจะต้องขอความเมตตา ความอนุเคราะห์กับทางรัฐบาลจีนว่าจะมีมาตรการอย่างไรให้ตรวจโควิด ได้เร็วกว่านี้ในเรื่องการบริหารจัดการผลไม้ในเมืองไทยจะต้องใช้การทูตในการเจรจา เนื่องจากศักยภาพในทาง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศักยภาพอาจจะยังไม่เพียงพอจะต้องดึงกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวข้องด้วย มาแบบบูรณาการ และที่สำคัญจะต้องเป็นระดับรัฐมนตรี จะมาใช้ระดับอธิบดี หรือปลัดกระทรวง ไม่ได้ สำคัญสุดเป็นเรื่องของการทูต

 

“ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องโควิด เป็นเรื่องความปลอดภัยของประเทศ เป็นเรื่องสำคัญกว่า แล้วตลาดที่มีแต่ในประเทศก็มีปัญหา เพราะมังคุดออกมาไม่ใช่ดี100% ส่วนหนึ่งขายส่งออกไม่ได้ ดังนั้น ประเด็นปัญหา 3 ประเด็นหลัก จะแก้อย่างไรวันนี้ ให้ส่งผลไม้ไปให้ศูนย์โควิดทั้งประเทศ ผ่านสหกรณ์ ที่มี อำเภอละ 1 แห่งจัดส่ง ร่วมกับเอกชนเข้าไปแข่งขัน ถ้าเราบอกนโยบายดี แต่ระบบไม่ดีก็จะเกิดปัญหา “มังคุดลม” หรือ “ผลไม้ลม” ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะของไม่ได้ออกไปจริง แต่จะต้องมีหน่วยงานตรวจสอบ”


 

เช่น กระทรวงพาณิชย์ส่ง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจรับ หรือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่ง กระทรวงพาณิชย์ตรวจรับ จะทำให้เกิดคานอำนาจกัน ในเมื่อ 2 กระทรวง บูรณาการกันก็ต้องช่วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทุจริต หรือ มังคุดลม ไม่งั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้ โครงการนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว”

 

สำหรับเป้าหมาย ก็คือ หมู่บ้านกักตัว และศูนย์พักคอย โดยผ่านสหกรณ์ แจกไปเลย เป็นคนกระจายสินค้าปลายทาง ซึ่งตอนนี้มีคนที่อยู่เป็นแสนคนแล้ว มองว่าการแก้ปัญหาแบบนี้จะเร็วกว่า ส่วนในนามรัฐบาลก็ต้องเดินควบคู่ด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จเมื่อไร กว่าจะสำเร็จหวั่นผลไม้จะหมดแล้ว ดังนั้นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

 

นายวีระพรรณ สุขวัลลิ

ขณะที่นายวีระพรรณ สุขะวัลลิ นายอำเภอท่าศาลา  จังหวัดนครศรีธรรมราช  กล่าวในขณะที่กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 69 คน กำลังจะมาโรงพยาบาลสนาม แต่ในช่วง 2-3 วันก่อนหน้านี้ ล้งไม่ซื้อมังคุด หลายล้ง ไม่แจ้งล่วงหน้า ชาวสวนมังคุดสอยมังคุดไว้ตั้งแต่ตอนเช้า พอบ่ายล้งไม่รับซื้อก็ไม่มีที่ขาย

 

บางล้งยังรับซื้อ ราคากิโลกรัมละ 12-15 บาท ค่าจ้างสอยกิโลกรัมละ 10 บาทแล้ว นี่มันไม่ใช่เรื่องระดับพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะแก้ปัญหาได้แล้วเป็นเรื่องใหญ่ระดับรัฐบาลกลาง จะอยู่ยังไง ให้พ่อค้าต่างชาติมากำหนดว่าวันนี้จะซื้อ หรือ ไม่ซื้อ ตามอำเภอใจ

 

อยู่อย่างไร ให้พ่อค้าต่างชาติกำหนดราคาขึ้นลงวูบวาบ วันต่อวัน ไม่สามารถคาดเดาราคาได้เลย เราเคยไปกำหนดราคาสินค้าเค้า ถึงในประเทศเค้าได้บ้างไหม

 

เราเปิดบ้านให้คนต่างชาติมาเปิดครัว รื้อตู้เย็น แล้วให้เค้าปรุงอาหารกินเอง วันไหนเค้าพอใจเค้าก็กิน จ่ายค่าวัตถุดิบเล็กน้อย แต่ถ้าวันไหนเค้าไม่พอใจ ปรุงจะกินแต่ไม่อร่อย เค้าก็เททิ้งทั้งหม้อ เดินปัดตูดไปเฉย

 

นายวีระพรรณ กล่าวว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร ตรงนี้เป็นการสะท้อนปัญหาขึ้นไปถึงส่วนกลางว่าเกษตรกรเผชิญปัญหาอย่างนี้รัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร