สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เตือน” มังคุด” ท่วมตลาดฉุดราคาดิ่งเหว 25 ส.ค.

03 ก.ค. 2564 | 06:52 น.

“ล้งผลไม้” บ่นอุบ ภาคใต้เงินสะพัดตรวจโควิดพุ่ง  แรงงานขาดแคลน วัคซีน-สวน GAP ไม่มี  ราคา “ทุเรียน”  หน้าสวน 100 บาท/กก. ขณะที่นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย จับตา 25 ส.ค.นี้ ” มังคุด” ท่วมตลาดฉุดราคาดิ่งเหว  ระบุ 16 มาตรการ ก.พาณิชย์ส่อแป๊ก แก้ปัญหาไม่ได้ นโบายเหมารวม

แหล่งข่าวล้งผลไม้ภาคตะวันออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  สถานการณ์ปัญหาในขณะนี้ ราคาทุเรียน เริ่มปรับลงหน้าสวน  100 บาท/กิโลกรัม  เนื่องจากปัญหาแรงงานขาดแคลน และสวนที่รับรอง GAP น้อยมากถึงน้อยที่สุด ขณะที่เจ้าหน้าที่มีจำนวนมาก ทางล้งเองก็ต้องแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์  มาตรการตรวจเข้มทุเรียนอ่อน ผมเห็นด้วย แต่ในทางภาคปฏิบัติ เวลาที่อยู่ในอำนาจของข้าราชการบางคนทำให้การค้าก็มีปัญหา “ทุเรียน” เพิ่งเริ่มต้นไปประมาณ 10%  

 

“มังคุด” ผลผลิตปีนี้ก็มีมาก ปัญหาหลายอย่างเยอะมาก อาทิ "แรงงาน"  ไม่สามารถย้ายจากภาคตะวันออกลงไปได้ ความจริงก็ไม่เข้าใจ  อย่างในเมืองไทย ไม่ได้มีอนุญาตให้คนออกประทศมาเป็นปีแล้ว เพราะฉะนั้นแรงงานต่างด้าวที่อยู่จังหวัดจันทบุรี ก็ถือว่าอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ถ้าอนุญาตให้เคลื่อนย้ายลงภาคใต้ ปัญหาก็จะเบาบาง แต่กฎหมายทุกตัวที่ออกมาเอื้อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยิ่งกฎเยอะเท่าไรยิ่งชอบ ผมไม่ได้มีอคติกับเจ้าหน้าที่ข้าราชการ

 

แหล่งข่าวล้งผลไม้ภาคตะวันออก  กล่าวว่า ตลาดส่งออกยังปกติ แต่ปัญหาภายในประเทศเพียบเลย ส่วน 16 มาตรการของ กระทรวงพาณิชย์  ได้แก่ 1.เร่งดำเนินการตรวจและรับรอง GAP (Good Agricultural Practices หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) เป้าหมายไม่น้อยกว่า 120,000 แปลง 2.ผ่อนปรนกฎระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่เก็บผลไม้ 3.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สนับสนุนกำลังพลช่วยเก็บเกี่ยว และขนย้ายผลไม้ เช่น ลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

4.ส่งเสริมการรวบรวมรับซื้อผลไม้ เพื่อเชื่อมโยงกระจายออกนอกแหล่งผลิต เป้าหมาย 66,600 ตัน 5.สนับสนุนให้มีรถเร่ไปรับซื้อผลไม้ เพื่อนำไปขายให้ผู้บริโภค เป้าหมาย 4,000 ตัน 6.สนับสนุนค่าขนส่ง สำหรับผลไม้ที่ส่งขายผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ปริมาณ 2,000 ตัน 7.เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลไม้ไปวางขายได้ฟรี ผ่านตลาดกลาง ตลาดสด สนามบิน ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างท้องถิ่น สถานีบริการน้ำมัน

 

8.เร่งรัดผลักดันส่งออกผลไม้ โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้ผู้ส่งออกกิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาท เป้าหมาย 60,000 ตัน และชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้าผลไม้ เป้าหมาย วงเงินกู้รวม 3,330 ล้านบาท 9.ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) โดยทำสัญญาข้อตกลงมาตรฐาน ให้เกษตรกรขายผลไม้ได้ เป้าหมาย 20,000 ตัน 10.ผู้โดยสารทุกสายการบิน สามารถโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินได้ฟรี 25 กก.

 

11.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าผลไม้ online โดยจัดอบรมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ความรู้วิธีการวางจำหน่ายผลไม้บนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ เช่น Thailandpostmart.com, Lazada, Shopee เป็นต้น 12.ส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ โดยจัดงานนานาชาติ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 จัดกิจกรรม Thai Fruit Golden Months ใน 14 เมืองของจีน นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ เป็นต้น

 

 

13.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ โดยจับคู่เจรจาธุรกิจ Online ผู้ประกอบการ 40 บริษัท ผู้นำเข้า 170 บริษัททั่วโลก จับคู่เจรจาธุรกิจ Online โดยทูตพาณิชย์ของไทยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ย.2564 จัดงานประชาสัมพันธ์สินค้าและผลไม้ไทย ร่วมกับห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น เช่น อินเดีย ช่วงเดือนมิ.ย.2564

 

14.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid line) โดยจัดกิจกรรม Mirror & Mirror ขายผลไม้ไทยภายในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เป้าหมายมากกว่า 7 ครั้ง ในตลาดส่งออกผลไม้สำคัญๆ ของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เอเชียใต้ (อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน) เป็นต้น 15.ประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย โดยจัดทำสื่อ 5 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี

 

16.กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และจริงจัง เพื่อไม่ให้ผู้รับซื้อผลไม้เอารัดเอาเปรียบชาวสวน เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยจะกำหนดให้ล้ง (ผู้รับซื้อ รวบรวม และส่งออกผลไม้) ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ และซื้อในราคาตามป้าย พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด โดยจะตรวจสอบเครื่องชั่งตามสถานที่รับซื้อ ไม่ให้มีการดัดแปลง หรือโกงตาชั่งเอาเปรียบชาวสวน รวมถึง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องปรามการใช้อำนาจผูกขาดโดยไม่ชอบทางการค้า การฮั้ว และการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับ 16 มาตรการ  ผมว่าไม่มีผล ตอนนี้ที่มีปัญหาจริง ก็คือเรื่องแรงงาน แล้วหากบริษัทนั้นมีชื่อ อยู่ในบริษัท น่าจะมีการอนุโลมให้เคลื่อนย้ายได้ในฤดูกาลผลไม้ภาคใต้นี้ แต่ถามว่าทำไมมีแรงงานบางส่วนไม่ถูกกฎหมาย ก็เพราะบัตรหมดอายุ ก็ไม่สามารถที่จะทำงานต่อได้ กลายเป็นว่าผิดกฎหมายไปแล้ว และตอนนี้ล้งทุกคนที่ลงไปต้องเสียเงินค่าตรวจโควิดคนละ 900 บาท ตรวจเพื่อให้อยู่ในพื้นที่ได้ ทำให้เงินสะพัดเลยเพราะค่าตรวจ แต่ความจริงการแก้ปัญหาน่าจะจบตรงที่ควรจะมีฉีดวัคซีนให้โดยเร็ว เป็นทางออกที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ไม่มี แก้ไม่ตรงจุด  หรืออยากให้เกิดผลกระทบวงกว้าง ก็ไม่แน่ใจ เพื่อที่จะให้ของบรัฐบาลมาอุดหนุน

สัญชัย ปุรณชัยคีรี

 

เช่นเดียวกับ นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทยส กล่าวว่า ผลผลิตมังคุดเริ่มจะออกในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ซึ่งในปีนี้มังคุดเยอะมาก หากชำแหละ 16 มาตรการ ของ กระทรวงพาณิชย์ เกษตรกรจะถึงหรือไม่ ไม่รู้จะช่วยผลไม้ตัวไหน รวมๆ ช่วยทุกตัว แต่ละชนิด จะช่วย มังคุดช่วยอย่างไร เงาะช่วยอย่างไร นโยบายเหมารวม คงไม่ได้ผล

 

ในวันที่ประชุม มีคนพูดว่า “ดีใจไม่มีลองกอง” แทนที่จะน่าเศร้าไม่มีของขาย กลับดีใจไม่ต้องแก้ปัญหา นี่แหละวิธีคิดของข้าราชการ ของนักการเมือง  “มัดคุด” น่าเป็นห่วง คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ราว 15% จากชุมพร ไปถึงนราธิวาส ออกพร้อมกันหมด มังคุดจะล้นตลาด ในวันที่  25 สิงหาคม นี้