งานเข้าครม.“สภาผู้บริโภค” ค้านเก็บค่าโดยสาร 65 บาท-ต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว

31 พ.ค. 2564 | 08:58 น.

“สภาผู้บริโภค” เบรกครม.เล็งพิจารณาเก็บค่าโดยสาร 65 บาท ลุยต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ด้านทีดีอาร์ไอวอนคมนาคม-กทม.หารือยึดค่าโดยสารอัตราเดียวร่วมกัน ขณะที่มก.เผยรายรับ-รายจ่ายบีทีเอสสามารถแก้หนี้ได้ ฟากคมนาคมลั่นไม่เข้าร่วมวงครม.หลังกทม.เมินหนังสือค้าน 4 ประเด็น

นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง  เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค  เปิดเผยว่า สำหรับการนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะถูกบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุม ในวันอังคารที่ 1 มิถุนายนนี้  โดยกรุงเทพมหานครยืนยันใช้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียว 65 บาทตลอดสายนั้น เชื่อว่าการนำเรื่องนี้เสนอต่อครม.จะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้บริโภคอีก 38 ปี คิดอัตราค่าโดยสารทั้งไป-กลับ อยู่ที่ 130 บาท ถือเป็น 40% ของค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปได้ที่จะเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ

 

“การใช้ค่าโดยสาร 65 บาท ไม่สมเหตุสมผลเลยในการต่อสัญญาสัมปทาน เมื่อมีสัญญาสัมปทานเดิมในการต่อสัญญาสัมปทานใหม่ควรมีราคาถูกลง หากรัฐยังเดินหน้าใช้ค่าโดยสารอยู่ที่ 65 บาท สะท้อนว่ารัฐไม่ได้รักษาประโยชน์ของประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบีทีเอสหรือไม่”

 

 

ดร.สุเมธ องกิตติกุล  ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีผู้โดยสารมากที่สุด เมื่อมีการเดินรถโดยคิดค่าเฉลี่ยเที่ยวโดยสารถือว่าต่ำที่สุดในระบบขนส่งทางราง ทั้งนี้เห็นว่าในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าหลายสายที่ให้บริการแก่ประชาชนควรมีอัตราค่าโดยสารเป็นระบบเดียวกัน หากมีการต่อสัญญาสัมปทานในแต่ละเส้นทางโดยไม่คำนึงถึงอัตราค่าโดยสารร่วมกันตั้งแต่ต้นจะทำให้ปัญหาใหม่ในอนาคต เพราะจะทำให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานตลอดเวลา

 

“ทางกระทรวงคมนาคมและกทม. ควรพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าร่วมกันโดยใช้รูปแบบเดียวกันทุกเส้นทาง ขณะเดียวกันการเร่งต่อสัญญาสัมปทานจะทำให้การแก้ไขให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็นรูปแบบเดียวกันดำเนินการได้ยากขึ้น ทั้งนี้สัญญาสัมปทานดังกล่าวที่จะนำเสนอต่อครม.ควรระบุเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วยเพื่อเกิดการตีความผิดจนเกิดข้อพิพาทระหว่างกันในอนาคต”

 

 

รศ.ดร.ชาลี   เจริญลาภนพรัตน์  อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า การคิดต้นทุนค่าโดยสารของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เริ่มจากในช่วงปี 2542 -2572  เป็นช่วงสัมปทานของบีทีเอสได้รับ เดิมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่มีงบประมาณในการลงทุนสร้างระบบรถไฟฟ้าของตนเอง ดังนั้นได้เชิญเอกชนมาดำเนินการสร้างรถไฟฟ้าสายแรก โดยบีทีเอสต้องลงทุนค่าโครงสร้างพื้นฐานทั้งงานโยธา  งานระบบไฟฟ้า ระบบรางและดำเนินการตามอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยเก็บอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 44 บาทต่อเที่ยว ซึ่งมีการปรับอัตราค่าโดยสารตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ทั้งนี้การจัดเก็บค่าโดยสารที่สูง เนื่องจากต้องคืนต้นทุนให้กับบีทีเอส ซึ่งเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 30 ปี ต้นทุนค่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะสิ้นสุดลง โดยอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายนี้หลังปี 2572 ต้องแตกต่างกัน

 

 

สำหรับรายงานประจำปีของบีทีเอส ในปี 2557 พบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการ จำนวน 214 ล้านคนต่อปี การเดินทางเฉลี่ย 7.07 สถานีต่อคน คิดเป็น 40 บาทต่อคน  ส่วนรายได้การให้บริการของบีทีเอส จำนวน 4,700 ล้านบาท และรายจ่ายที่อาจเกี่ยวข้องกับการให้บริการ จำนวน 2,786 ล้านบาท จำนวนเที่ยวโดยสาร อยู่ที่ 214.7 ล้านเที่ยวหากคำนวณต้นทุนค่าเฉลี่ยค่าโดยสาร อยู่ที่ 13 บาท ต่อเที่ยว  ขณะที่ในปี 2562 มีจำนวนเที่ยวโดยสาร อยู่ที่ 241 ล้านเที่ยว โดยมีรายจ่ายที่อาจเกี่ยวข้องกับการให้บริการ จำนวน 3,777 ล้านบาท  ต้นทุนค่าเฉลี่ยค่าโดยสาร อยู่ที่ 15.7 บาท ต่อเที่ยว 

 

“เราคิดว่ากาใช้อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 25 บาท สามารถดำเนินการได้หากต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ้นสุดลงหลังจากปี 2572 โดยปัจจุบันกทม.มีหนี้กับบีทีเอส ราว 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐพยายามแก้ปัญหาหนี้สินดังกล่าว โดยการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว อีกทั้งมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่สูงเกิน อยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ”

 

 

รศ.ดร.ชาลี  กล่าวต่อว่า หากดูรายได้จากการให้บริการและการขาย พบว่าบีทีเอสมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2557 มีรายได้ราว 4,000 กว่าล้านบาท  และในปี 2562 มีรายได้แตะเกือบ 6,000 ล้านบาท คาดว่าเมื่ออัตราค่าโดยสารลดเหลือ 25 บาท ส่งผลให้จำนวนเที่ยวโดยสารเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพบว่าบีทีเอสมีรายได้จากการโฆษณาในปี 2562 อยู่ที่ 5,735 ล้านบาท  กำไร อยู่ที่ 3,108 ล้านบาท ทำให้บีทีเอสมีกำไรและสามารถแก้ปัญหาหนี้ดังกล่าวได้ ซึ่งทำให้ประชาชนมีภาระน้อยลง

 

 

นายสิริพงศ์  อังคสกุลเกียรติ  กล่าวต่อว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า  ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ทั้ง 4 ประเด็น ดังนี้ 1. ประเด็นเรื่องความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562  2. ประเด็นเรื่องการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม และเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ 3. ประเด็นเรื่องการใช้สินทรัพย์ของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด 4. ประเด็นเรื่องข้อพิพาททางกฎหมาย ทั้งนี้ ก็เพื่อความรอบคอบ และเป็นประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชน และสอดคล้องตามที่คณะรัฐมนตรีได้กรุณามีมติมอบหมายไว้เท่านั้น

 

 

“เราเข้าใจว่าทางกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้แก้ไขร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เบื้อต้นที่ประชุมครม.ในวันพรุ่งนี้กระทรวงคมนาคมจะไม่ขอเข้าร่วมการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ทำให้กระทรวงคมนาคมไม่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ หากจะดำเนินการแก้ไขควรเร่งดำเนินการก่อนเสนอเข้าที่ประชุมครม. หากกรณีมีรัฐมนตรีไม่เข้าร่วมการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ถึง 7 คน แต่ยืนยันที่จะเดินหน้าการต่อสัญญาสัมปทาน เชื่อว่าในอนาคตคงมีปัญหาด้านข้อกฎหมายต่อไป”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง