พลังงานดัน 4 มาตรการ ลด PM 2.5

08 ต.ค. 2562 | 10:52 น.

กระทรวงพลังงาน อดั 4 แคมเปญลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ประกาศแผนกระตุ้นการใช้ดีเซล บี10 สิ้นเดือน ต.ค.นี้ พร้อมรณรงค์ใช้แก๊สโซฮอล์ ช่วยพยุงราคาอ้อยและมันสำปะหลัง เร่งคลอดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมน ลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดันแพคเก็จส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบสิ้นปีนี้ หวังรักษาฐานผลิตรถและฮับแบตเตอรี่อาเซียน

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) กระทรวงพลังงานมีบทบาทสำคัญที่จะดำเนินงานใน 4 เรื่องได้แก่  การเร่งส่งเสริมใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยปลายเดือนตุลาคมนี้ จะออกแคมเปญกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซล บี10 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ให้เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานใช้สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป  ซึ่งภายในเดือนมีนาคม 2563 ยืนยันว่าจะมีสถานีบริการน้ำมันดีเซลบี 10 จำหน่ายครบทุกแห่ง

 

ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้มียอดการใช้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำ และลดการเกิด PM 2.5 จากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้ด้วย

 

ส่วนการส่งเสริมน้ำมันดีเซล บี20 ยังเป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ต่อไป แม้ว่าจะปรับลดอัตราการชดเชยลงเหลือถูกกว่า บี 7 อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตรก็ตาม  ซึ่งการส่งเสริมดีเซลบี 10 ก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์ที่จะเติมบี 10 ได้ถึง 50% ของรถเครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ที่ใช้ดีเซลบี 7 สามารถขยับขึ้นไปใช้ดีเซลบี 10 ได้  ขณะที่รถยนต์ที่ใช้ดีเซลบี 20 มีจำนวนน้อยกว่ามาก  ดังนั้น การส่งเสริมดีเซลบี 10 จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้เร็วกว่ามาก

พลังงานดัน 4 มาตรการ ลด PM 2.5

                                        นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง และยังช่วยลดปัญหา PM 2.5 ด้วย กระทรวงพลังงาน จะออกแคมเปญกระตุ้นการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่นำเอาเอทานอลมาเป็นส่วนผสม โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน จัดทำรายละเอียดในการส่งเสริมการใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ที่จะลดหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์บางชนิดลง เพื่อไปส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มียอดการใช้ที่มากแทน และเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันด้วย

 

อีกทั้ง จะเร่งส่งเสริมโครงการ 1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้า ผ่านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฝางข้าว ซังข้าวโพด ที่มีการเผาทิ้งในบางจังหวัดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5  นำเข้ามาป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า เป็นการขยายผลการลดปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้

พลังงานดัน 4 มาตรการ ลด PM 2.5

รวมทั้งการเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ทั้งระบบ เพื่อช่วยปัญหามลพิษในเมืองหลวงและเมืองหลัก ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อม  หลังจากพบว่า การใช้รถยนต์ไฮบริด และมอเตอร์ไฟฟ้า จากทั่วโลกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญราว 20% ต่อปี  ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ได้มีประกาศมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีซี อย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะมีเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในภูมิภาค

 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ภาคเอกชนและค่ายรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อระดมข้อมูลต่างๆจัดทำเป็นแพคเกจส่งเสริมไปสู่การเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ใน 3 เทคโนโลยี ได้แก่ ปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% หรือบีอีซี และรถยนต์ที่ใช้ Fuel Cell หรือใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

“ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่(ฮับ)ของอาเซียน ซึ่งแคมเปญที่ออกมาจะต้องมีแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคที่จะเข้าถึงการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการผลิตรถ และต้องมีความพร้อมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจเช่าแบตเตอรี่ ซึ่งจะเห็นแพคเกจส่งเสริมภายในสิ้นปีนี้”

 

ส่วนแรงจูงใจที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตหรือใช้รถยนต์อีวีนั้น  จะต้องมีมาตรการทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คาดว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้เวลาใน 5 ปี (2563-2567) และให้สอดคล้องกับปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ปี2561-2580 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่จะมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตด้วย