แบ่งเค้ก...แบ่งงาน คมนาคมใหม่ ‘เร่ง-รื้อ-ประมูล’ เมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน

25 ก.ค. 2562 | 23:30 น.

หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าปฏิบัติหน้าที่พร้อมด้วยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และนายถาวร เสนเนียม 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดูเหมือนว่าจะถูกจับตามองในทันทีถึงการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบว่าใครจะรับผิดชอบหน่วยงานไหน เพื่อขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์คมนาคมให้สำเร็จสนองนโยบายรัฐบาล

ก่อนอื่นนั้นขอย้อนกลับไปดูการแบ่งงานรับผิดชอบของรัฐมนตรีคมนาคมของรัฐบาลที่ผ่านมาเริ่มตั้งแต่ปี 2558 ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมานายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้รับโปรดเกล้าฯทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมต่อจากนายออมสิน เพื่อเปรียบเทียบกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมชุดใหม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ใครจะได้ดูผลประโยชน์โครงการไหน หน่วยไหน อย่างไรกันบ้าง

 

จับตาหน่วยงานเกรด A

ทั้งนี้ช่วงปี 2558 พบว่าหน่วยงานหลักที่เป็นหน่วยงานเกรด A ของกระทรวงคมนาคมนายอาคมเข้าไปกำกับดูแลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ที่ได้รับงบประมาณปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท แถมยังเร่งประมูลก่อสร้างมอเตอร์เวย์อีก 3 เส้นทางงบแตะแสนล้านบาท อีกทั้งยังมีการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ได้ลุ้นประมูลแหลมฉบังเฟส 3 งบกว่า 8 หมื่นล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่เร่งประมูลสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก
งบกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท แล้วยังมีการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้ได้ลุ้นต่อกับการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 งบกว่า 5 หมื่นล้านบาท

โดยนายออมสินได้รับความไว้วางใจให้กำกับดูแลหน่วยงานกรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ส่วนนายไพรินทร์ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปดูแลหน่วยงานกรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีงานประมูลรอให้ขับเคลื่อนอีกเพียบทั้งทางคู่ รถไฟไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน งบหลักแสนล้านบาททั้งสิ้น การท่าเรือแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทขนส่ง จำกัด และบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

แบ่งเค้ก...แบ่งงาน คมนาคมใหม่ ‘เร่ง-รื้อ-ประมูล’ เมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน

 

ให้ได้ลุ้นมอบงานชุดใหม่

ดังนั้นเมื่อเข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีคมนาคมชุดใหม่ที่มีรัฐมนตรีช่วยเข้ามาทำหน้าที่อีก 2 คนนั้นดูเหมือนว่าจะได้รับการมอบหมายงานแบบสมนํ้าสมเนื้อ แต่ยังมีลุ้นกันว่าหน่วยไหนใครจะได้ดูแลกำกับนโยบายและขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาลชุดใหม่

คาดว่านายศักดิ์สยาม จะได้กำกับหน่วยงานหลักๆอย่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่มีปัญหาค่าโง่ทางด่วนกว่า 4 พันล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทยมีค่าโง่ราว 2 หมื่นล้านบาทให้เร่งเคลียร์ไม่ให้บานปลายเป็นหลักแสนล้านบาท แต่ยังมีเมกะโปรเจ็กต์อีกเพียบทั้งทางคู่ รถไฟไทย-จีน รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ตลอดจนหน่วยงานกรมทางหลวงและหน่วยงานด้านอากาศทั้งหมด

 

ส่วนนายถาวรส.ส.ภาคใต้ถิ่นด้ามขวานทองคงต้องไปดูแลหน่วยงานทางนํ้าอย่างกรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเพื่อขับเคลื่อนปมค่าโดยสาร 15 บาทตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนายอธิรัฐ คงจะได้อานิสงส์ดูแลหน่วยกรมทางหลวงชนบท บริษัท ขนส่ง จำกัด กรมการขนส่ง ทางบก เพื่อผลักดันนโยบายให้ Grab ถูกกฎหมายและบัตรบางกอกการ์ด บัตรใบเดียวใช้ได้ทุกโหมดการเดินทางก่อนที่จะปรับไปใช้ตั๋วร่วมแมงมุมที่จะพร้อมใช้อีกราว 1 ปีนี้เพื่อสนองนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ หรือหากได้รับความไว้วางใจอาจได้หน่วยงานด้านอากาศทั้งหมดไปกำกับดูแล

ดังนั้นหลังรัฐบาลแถลงนโยบายช่วงวันที่ 25-27 กรกฎาคมนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว กระทรวงคมนาคมและกลุ่มทุนรับเหมาคงต้องได้ลุ้น-เร่ง-รื้อ-ประมูลเมกะโปรเจ็กต์ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมขนส่งและแผนปฏิบัติการ(แอกชันแพลน) ปี 2562-2563 รวมวงเงินลงทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาท เพื่อแบ่งและมอบงานกันไปกำกับดูแลในวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 จับตากันดูว่าการแบ่งงาน แบ่งเค้กเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมชุดใหม่จะเรียกนํ้าย่อยจากกลุ่มทุนบิ๊กรับเหมาได้อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3490 ระหว่างวันที่ 25 - 27 กรกฎาคม 2562