โควิด “สายพันธุ์เดลตา”ป่วนถึงแอฟริกาใต้ พบเป็นตัวการหลักในการระบาดใหญ่ระลอก 3

28 มิ.ย. 2564 | 01:00 น.

เชื้อไวรัสโควิด-19 “สายพันธุ์เดลตา” ซึ่งถูกตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย กำลังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ระลอกที่ 3” ในแอฟริกาใต้เวลานี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างอิงนาย ทูลิโอ เด โอลิเวียรา ผู้อำนวยการ เครือข่ายการลำดับพันธุกรรมและนวัตกรรมการวิจัยควาซูลู-นาทาล (KRISP) ในประเทศแอฟริกาใต้ แถลงข่าววานนี้ (27 มิ.ย.) ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งถูกตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเกิด การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ใน แอฟริกาใต้

โอลิเวียรากล่าวว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาก่อให้เกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ในอินเดีย และคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้ด้วย โดยจากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดของการแพร่ระบาดระดับชุมชนในจังหวัดควาซูลู-นาทาล พบว่ามีสัดส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มากที่สุด และเป็นที่น่าสังเกตว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ (เดลตา) มีอัตราการแพร่ระบาดมากกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “สายพันธุ์เบตา”  ซึ่งถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้เองเสียอีก

โควิด “สายพันธุ์เดลตา”ป่วนถึงแอฟริกาใต้ พบเป็นตัวการหลักในการระบาดใหญ่ระลอก 3

นายมาโมโลโค คูบายี รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของแอฟริกาใต้แถลงข่าวว่า แอฟริกาใต้กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยมีสถิติการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจังหวัดเกาเต็งเป็นศูนย์กลางของการติดเชื้อครั้งใหม่นี้

กระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้รายงานว่า ภายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา แอฟริกาใต้พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 18,762 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นอัตราการตรวจโรคเป็นบวกที่ 25.5% โดยในผู้ป่วยจำนวนนี้ มี 11,777 รายมาจากจังหวัดเดียวกัน คือจังหวัดเกาเต็ง

ทั้งนี้ นายคูบายี รักษาการรมว.สาธารณสุขแอฟริกาใต้ เชื่อว่า จุดสูงสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 จะรุนแรงกว่าจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ที่เกิดขึ้นในเดือนม.ค. ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ป่วยใหม่รายวันมากกว่า 21,000 ราย สิ่งที่น่ากังวลคือจำนวนผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อสถานดูแลสุขภาพในจังหวัดเกาเต็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง