ชมรมแพทย์ชนบท เตือนวิกฤตเดือนกรกฎาคมเจอแน่ “เตียงเต็ม-ICU เต็ม”

27 มิ.ย. 2564 | 19:41 น.
อัพเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2564 | 23:18 น.

เมื่อวัคซีนโควิดมีจำนวนจำกัดจำเขี่ย ประดุจโล่และเกราะที่ขาดแคลนหนักในยามข้าศึกกระหน่ำยิง "กระสุนเชื้อโรค" ประชิดเมือง “ชมรมแพทย์ชนบท” ชี้ ก.ค.นี้ ไทยจะผ่านพ้นมรสุมโควิดอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ “เตียงเต็ม-ICU เต็ม”

เพจ ชมรมแพทย์ชนบท เผยแพร่บทความ "ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 15" วานนี้ (27 มิ.ย.) ว่าด้วยเรื่อง วิกฤตกรกฎาคม เตียงเต็ม ICU เต็ม แถมวัคซีนมาน้อยกว่าที่คาด ระบุปัญหาที่กำลังถั่งโถมเข้าใส่ระบบสาธารณสุขของไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร รายละเอียดของเนื้อหา มีดังนี้

ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 15 : 27-06-64

วิกฤตกรกฎาคม เตียงเต็ม ICU เต็ม แถมวัคซีนมาน้อยกว่าที่คาด

การระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ ไม่เฉพาะกรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แทบทุกจังหวัดก็มีหย่อมการระบาดอยู่ด้วย การดับไฟการระบาดด้วยวิธีการควบคุมโรคกำลังถึงจุดวิกฤตคือเอาไม่อยู่ และเริ่มทำไม่ไหวแล้ว

ที่ว่าเอาไม่อยู่ ทำไม่ไหวก็คือ  ปกติเราก็จะตรวจสวอปเพื่อหาผู้ติดเชื้อ เราให้เขากักตัวที่บ้าน 1-2 วันเพื่อรอผล พอผลออกใครพบโควิดบวกก็รับเข้านอนโรงพยาบาล แล้วก็หาคนที่สัมผัสคนที่บวกมาสวอปเพิ่ม ทำเป็นวงจร เจอคนบวกก็พาเข้านอนกักตัวในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม  ใครลบก็กักตัวเองที่บ้านต่อไป  พอครบ7วันคนที่ผลลบก็มาสวอปซ้ำ  ถ้าบวกก็รับไว้นอนที่โรงพยาบาล หาไปเรื่อยและเจอเพิ่มขึ้นทุกวัน ผลก็คือเตียงโรงพยาบาลเต็มสุดๆแล้ว  ลามไปเตียงของโรงพยาบาลสนามก็เริ่มเต็มไปด้วย  ต้องเปิดเพิ่มหรือเริ่มจะให้นอนกักที่บ้านได้  เมื่อผู้ป่วยมากขึ้นมาก ย่อมมีคนที่อาการหนักมากขึ้นด้วย ผลก็คือ ICU ที่เต็มแล้วก็จะล้น อัตราการเสียชีวิตก็จะสูงขึ้นเป็นเท่าตัว  บัดนี้ระบบสาธารณสุขกำลังอ่อนล้า ผู้ป่วยล้นจนกำลังจะเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะรับไหว  นี่คือวิกฤตแห่งเดือนกรกฎาคม

ชมรมแพทย์ชนบท เตือนวิกฤตเดือนกรกฎาคมเจอแน่ “เตียงเต็ม-ICU เต็ม”

ภายใต้วิกฤตการระบาดที่กว้างขวางจนคุมไม่อยู่  จำนวนวัคซีนแห่งความหวังก็ทราบว่า “จะมาน้อยกว่าที่คาดการณ์มาก”  เดิมทาง ศบค.เคยบอกไว้ว่า มิถุนายนนั้นยังมีวัคซีนน้อย กรกฎาคมจะลงตัว  เราจะมีแอสตร้า 10 ล้านโดส มีซิโนแวค 5 ล้านโดส รวมเป็น 15 ล้านโดส ฟังแล้วน่าชื่นใจ สอดคล้องกับศักยภาพการฉีดวัคซีน ที่เราฉีดได้ที่วันละ 5แสนคน คูณ 30 วัน ฉีดทุกวันไม่มีวันหยุด จะได้ 15 ล้านโดสพอดี  แต่สุดท้าย บัดนี้ชัดเจนแล้วว่า “วัคซีนไม่มาตามนัด”

เดือนกรกฏาคมนี้ ในเบื้องต้น แอสตร้าจากสยามไบโอไซน์จะมาเพียง 4 ล้านโดส คือสัปดาห์ละ 1 ล้านโดส เพราะเขาต้องส่งออกไปประเทศอื่นๆตามสัญญาด้วย  และซิโนแวคจะมาเท่าเดิมที่ 3 ล้านโดส รวมเป็น 7 ล้านโดสเท่านั้น  วัคซีนหายไปครึ่งหนึ่ง ประดุจโล่ห์และเสื้อเกราะที่ขาดแคลนหนักในยามที่ข้าศึกรุมกระหน่ำยิงกระสุนเชื้อโรคบุกหนักประชิดเมือง

ทราบว่าทาง ศบค.กำลังเจรจาในการขอรับวัคซีนบริจาคมาจาก 2 แหล่ง  ประเทศญี่ปุ่นเองมีโรงงานผลิตวัคซีนแอสตร้าด้วย แต่เขาเลิกใช้แอสตร้าแล้วหันไปใช้ไฟเซอร์แทน จึงสามารถส่งออกหรือบริจาคเป็นวัคซีนการทูตได้  ไทยเราน่าจะได้อภินันทนาการแอสตร้าญี่ปุ่นราว 1-2 ล้านโดส  และสหรัฐอเมริกามหามิตรที่ถูกวัคซีนซิโนแวค-ซิโนฟาร์ม ทำหน้าที่วัคซีนการทูตมาร่วมครึ่งปี ก็กำลังจะเรียกศรัทธาคืนมาด้วยการบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ชิมลางก่อนที่  1-2 ล้านโดส เพราะกว่าที่วัคซีนไฟเซอร์ตามสัญญาสั่งซื้อจะได้วัคซีนไฟเซอร์มาก็ต้องเดือนตุลาคม ซึ่งไม่สมกับการรักษาอิทธิพลของอเมริกาในประเทศไทย  คาดว่าวัคซีนบริจาคจาก 2 แหล่งมหามิตรนี้น่าจะเข้ามาไม่เกิน 3 ล้านโดส 

ดังนั้น ตัวเลขที่ ศบค.เคยแพลมๆว่า กรกฎาคมมี 10 ล้านโดสก็มาจาก แอสตร้าไทยแลนด์ 4 ล้านโดส ซิโนแวค 3 ล้านโดส และวัคซีนบริจาคอีกราว 3 ล้านโดส นี่เอง ไม่นับรวมวัคซีนซิโนฟาร์มที่เข้ามาอีกจำนวนไม่มาก

ท่ามกลางการระบาดหนัก และวัคซีนมีน้อย  การล็อคดาวน์จะช่วยได้ไหมอันนี้ก็น่าถกเถียงมาก เพราะปัจจุบันเป็นการระบาดเป็นการระบาดในครัวเรือน ระบาดในชุมชนไปแล้ว ล็อคยังไงก็คงเอาไม่อยู่  ทางออกของสังคมไทยจะอยู่กับการระบาดหนักเช่นนี้อย่างไร  คงไม่มีมาตรการใดมาตรการเดียวที่ได้ผล ล็อคดาวน์ปิดกั้นการเดินทางเพียงแค่การตั้งด่านปิดถนนนั้น แทบจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆในการควบคุมโรคในสถานการ์ระบาดเช่นนี้

ทางออกควรจะเป็นอย่างไร  โปรดติดตามตอนต่อไป (ขอปรึกษาหารือในหมู่แพทย์ชนบทและผู้เกี่ยวข้องอย่างหนักหน่วงก่อน เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย)

 

ที่มา เพจชมรมแพทย์ชนบท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง