สายพันธุ์เดลต้าทำพิษ “ซิดนีย์” บังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะอีกครั้งหลังระบาดหนัก

19 มิ.ย. 2564 | 07:02 น.

รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ต้องกลับมาใช้กฎบังคับสวมหน้ากากอนามัยในระบบขนส่งสาธารณะของเมืองซิดนีย์อีกครั้ง  

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศ ออสเตรเลีย เปิดเผยวานนี้ (18 มิ.ย.) ว่ามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุด โดยมีแนวโน้มว่าจะติดไวรัสผ่านการติดต่อกับผู้ติดเชื้อในศูนย์การค้าซิดนีย์ ข่าวดังกล่าวทำให้นางกลาดิส เบเรจิคเลียน นายกรัฐมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออกมาแถลงต่อผู้สื่อข่าวในเมืองซิดนีย์ว่า ไม่ต้องการให้ผู้คนตื่นตระหนก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ทุกคนตื่นตัวและตระหนักในสถานการณ์ที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ การสวมหน้ากากอนามัย จะถูกบังคับใช้ใน ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถประจำทาง และเรือข้ามฟาก เป็นเวลา 5 วัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่เรียกร้องให้ชาวซิดนีย์กว่า 5 ล้านคนสวมใส่หน้ากากในสถานที่ในร่มทั้งหมดด้วย รวมทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ตและโรงละคร

สายพันธุ์เดลต้าทำพิษ “ซิดนีย์” บังคับสวมหน้ากากในที่สาธารณะอีกครั้งหลังระบาดหนัก

ก่อนหน้านี้ ในเดือนม.ค. เมืองซิดนีย์เคยบังคับใส่หน้ากากมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะรวมทั้งระบบขนส่งมวลชน โดยผู้ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยมีโทษปรับหนักถึง 200 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 4,700 บาท  

ที่ผ่านมา ออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด การล็อกดาวน์ และการควบคุมชายแดนภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้ตัวเลขของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิดค่อนข้างต่ำ โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพียง 30,300 คนและเสียชีวิต 910 คน

อย่างไรก็ดี โครงการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของออสเตรเลีย ยังเป็นไปไม่ดีเท่าที่ควร รัฐบาลออสเตรเลียได้แก้ไขนโยบายโดยให้จำกัดการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเท่านั้น เนื่องจากความกังวลเรื่องภาวะลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้นกับบางคนหลังฉีดวัคซีน ในขณะที่อนุญาตวัคซีนไฟเซอร์สำหรับกลุ่มอายุอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ นโยบายนี้ทำให้การฉีดวัคซีนไม่ราบรื่น เนื่องจากต้องรอวัคซีนของไฟเซอร์จากประเทศอื่น ในขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ออสเตรเลียสามารถผลิตขึ้นเองภายในประเทศ

ปัจจุบัน มีเพียง 4% ของประชากรผู้ใหญ่ในออสเตรเลียจากจำนวน 20 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสมีประมาณ 25%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง