อินเดียเรียกร้องการแบ่งปันสูตรผลิตวัคซีนต้านโควิด-19

12 พ.ค. 2564 | 02:04 น.

มุขมนตรีกรุงนิวเดลี เรียกร้องให้รัฐบาลกลางอินเดียแบ่งปันสูตรการผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อเร่งเพิ่มปริมาณวัคซีนภายในประเทศตอบโจทย์ความต้องการที่พุ่งทะยาน    

อินเดีย เป็น ประเทศผู้ผลิตและส่งออกวัคซีน รายหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย แต่ การแพร่ระบาดระลอก2 ของโควิด-19 ที่ทำให้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอินเดีย พุ่งเกิน 3 แสนรายต่อวันติดต่อกันมาเป็นสัปดาห์แล้วนั้น ทำให้อินเดียต้องชะลอและระงับการส่งออกวัคซีนโควิด-19 เป็นการชั่วคราว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการภายในประเทศ

แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะเร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและกว้างไกลมากที่สุดเพื่อสร้างภูมิต้านทานหมู่หยุดยั้งโควิด-19  ดังนั้น ล่าสุดนายอาร์วินด์ เคจิริวัล มุขมนตรีกรุงนิวเดลีจึงได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) ให้รัฐบาลกลางอินเดีย แบ่งปันสูตรการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยสถาบันเซรั่มแห่งอินเดีย และสูตรการผลิตวัคซีน “โควาซิน” (Covaxin) ของภารัต ไบโอเทค บริษัทวัคซีนของอินเดียเอง ให้กับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณวัคซีนโควิด-19 ในประเทศอินเดีย

อินเดียเรียกร้องการแบ่งปันสูตรผลิตวัคซีนต้านโควิด-19

นายเคจิริวัล ย้ำว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั้งสองแห่งที่กล่าวมานี้ ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เพียง 60 ถึง70 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งจะใช้เวลากว่า 2 ปี ถึงจะผลิตได้เพียงพอสำหรับประชากรอินเดียทุกคน อาจจะไม่ทันกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอกนับจากนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ทันกับสถานการณ์

ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอินเดีย ยังอยู่ในขั้นวิกฤต โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ ๆ 330,000 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 3,876 ราย ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตรวมทั่วประเทศเกือบ 250,000 ราย และมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมมากกว่า 22,990,000 คน

ขณะเดียวกันในเวทีระดับโลก มีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือความพยายามที่จะปลดล็อกสูตรการผลิตวัคซีนซึ่งมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองอยู่ แต่เนื่องจากโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ไม่ปกติในระดับโลก ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) จึงได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนให้มีการเจรจายกเว้นสิทธิเหนือสิทธิบัตรวัคซีนเป็นการชั่วคราว เป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิควัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา สามารถผลิตวัคซีนต้านโควิดได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น (อ่านเพิ่มเติม: WTO จ่อเปิดเวทีเจรจายกเว้นสิทธิ IP วัคซีนโควิด ปลดล็อกการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา)  ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ที่ประกาศพร้อมสนับสนุนการยกเว้นความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิดเป็นการชั่วคราว เพื่อร่วมหยุดยั้งวิกฤตโควิดที่กำลังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก

 

ข้อมูลอ้างอิง

Delhi asks Centre to share vaccine formula to raise production; announces global tender for shots
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง