“เมียนมา” ยกระดับอารยะขัดขืน สหภาพนัดหยุดงานทั่วประเทศ หยุดเศรษฐกิจ-หยุดเผด็จการ

09 มี.ค. 2564 | 06:17 น.

9 สหภาพแรงงานเมียนมายอมหักดิบ ลั่นหยุดเผด็จการต้องหยุดงาน-หยุดเศรษฐกิจ

สหภาพแรงงานหลักๆในเมียนมา นัด หยุดงานทั่วประเทศประท้วงรัฐบาลทหาร เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (8 มี.ค.) เป็นอีกรูปแบบของ มาตรการ “อารยะขัดขืน” ฝ่าฝืนอำนาจรัฐ ที่กำลังนำเมียนมาไปสู่อีกบทของการประท้วงที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง แล้ว โดยทางสหภาพฯเรียกร้องให้สมาชิกร่วมกัน “ปิดทำการ” เศรษฐกิจของประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อคัดค้านการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

 

“เมียนมา” ยกระดับอารยะขัดขืน สหภาพนัดหยุดงานทั่วประเทศ หยุดเศรษฐกิจ-หยุดเผด็จการ

วัตถุประสงค์ของการหยุดงานเพื่อหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศครั้งนี้ ก็เพื่อกดดันรัฐบาลทหารที่มีนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้บัญชาการสูงสุด โดยแถลงการณ์ของสหภาพแรงงาน 9 แห่งที่ร่วมกันหยุดงานประท้วงครั้งนี้ระบุว่า กองทัพเพิ่มแรงกดดันและปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมประท้วงหนักข้อยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงถึงเวลาที่สมาชิกสหภาพฯต้องออกมาร่วมกันแสดงพลังปกป้องประชาธิปไตย

“สหภาพฯขอเรียกร้องการปิดทำการทั้งระบบเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างเต็มรูปแบบ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ร่วม 9 สหภาพฯระบุ “การปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจดำเนินต่อไปตามปกติ มีแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกองทัพที่กำลังไล่บดขยี้ประชาชนชาวเมียนมา”  

 

การตายที่ทำให้ประชนลุกฮือ 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โฆษกของกองทัพปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อเข้าไป ความเคลื่อนไหวของสหภาพฯมีขึ้นหลังจากที่นายขิ่น หม่อง ลัตต์ เจ้าหน้าที่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ถูกตำรวจควบคุมตัวออกจากบ้านราว 22.00 น.ในคืนวันเสาร์ (6 มี.ค.) หลังจากนั้นเช้าวันอาทิตย์ตำรวจก็มอบร่างไร้ชีวิตของเขาคืนให้กับญาติโดยระบุเพียงว่า เขาตายหลังจากเป็นลม ไม่มีรายงานสาเหตุการตาย แต่สภาพร่างกายที่มีรอยฟกช้ำที่ศีรษะและลำตัวทำให้เกิดข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย “ดูเหมือนเขาจะถูกจับกุมตัวในตอนกลางคืนหลังจากนั้นก็ถูกทรมานอย่างหนัก” นายบา เมียว เทียน สมาชิกสภาสูงเมียนมาซึ่งถูกยุบสภาไปแล้วหลังมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ให้ความเห็น “ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะยอมรับกันได้”     

ตำรวจในพื้นที่เมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่นายขิ่น หม่อง ลัตต์ ถูกจับกุม ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับคดี แต่หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว ผู้เข้าร่วมชุมนุมก็มีจำนวนมากขึ้นเห็นได้ชัดเจนในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 มี.ค.) กลายเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความเข้มงวดและรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน มีการใช้ระเบิดแสงและแก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมนับหมื่นคนที่ประท้วงอย่างสันติในเมืองมัณฑะเลย์ และหลังจากนั้นก็มีการจับกุมผุ้ชุมนุมไปกว่า 70 คน

“เมียนมา” ยกระดับอารยะขัดขืน สหภาพนัดหยุดงานทั่วประเทศ หยุดเศรษฐกิจ-หยุดเผด็จการ

ในเมืองย่างกุ้งก็มีการใช้ระเบิดแสงและแก๊สน้ำตากับผู้ชุมเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีข่าวการใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมในเมืองพุกาม ข่าวการบุกจับกุมตัวผู้ชุมนุมและสมาชิกพรรค NLD ในยามวิกาล รวมทั้งข่าวกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนกองทัพออกมาแสดงตัวตนและใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย มีการแชร์ข่าวว่อนเน็ตเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา  

ไม่มีลดราวาศอกอีกแล้ว 

ด้านสำนักข่าวนิคเคอิของญี่ปุ่นรายงานว่า การที่ผู้ชุมนุมจำนวนหลายพันคนยังคงหลั่งไหลออกมาแสดงพลังบนท้องถนนเมืองย่างกุ้งเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) และยอมฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิวเพื่อแสดงการต่อต้านรัฐบาลทหาร ขณะที่กองทัพเองก็ส่งกำลังพลเข้าควบคุมพื้นที่โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และโรงเรียนหลายแห่งในกรุงย่างกุ้ง และเมืองใหญ่อื่น ๆอีก 4 แห่ง รวมทั้งมัณฑะเลย์ สะท้อนให้เห็นถึงการยืนหยัดเผชิญหน้าอย่างไม่มีฝ่ายใดต้องการลดราวาศอก

กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาอ้างว่าการส่งกองกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ตามสถานที่ต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน ก็เพื่อรักษากฎหมายและความสงบภายในประเทศ แต่สำหรับนักวิเคราะห์การเมืองเมียนมา มองว่าความเคลื่อนไหวของกองทัพเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หันมาสร้างเครือข่ายกองกำลังในตัวเมืองเพื่อสยบ “กระแสอารยะขัดขืน” ของบุคลากรวิชาชีพต่างๆ รวมถึงหมอพยาบาล ครูบาอาจารย์ และนักเรียน-นักศึกษา ที่นับวันก็ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งยังได้รับความสนับสนุนจากผู้คนที่มีบทบาทในประชาคมโลกมากขึ้น โดยล่าสุด นายจ่อ ซวา มินน์ เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศอังกฤษ เป็นอีกบุคคลหนึ่งในแวดวงการทูตที่ออกมาแสดงตัวเป็น “ขบถ” ต่อรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และบุคคลอื่นๆที่ถูกจับกุม

“การจะยุติภาวะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนี้มีหนทางเดียวคือบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น” แถลงการณ์ของทูตเมียนมาประจำประเทศอังกฤษที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เขาได้หารือดีแล้วกับนายโดมินิก ร้าบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ และนายไนเจล อดัมส์ รัฐมนตรีช่วยฝ่ายกิจการเอเชีย ก่อนหน้านี้ นายจ่อ โม ทุน ผู้แทนถาวรของเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็เป็นผู้หนึ่งที่แสดงพลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีการประชุมของยูเอ็นเมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

ท่าทีของบุคคลเหล่านี้ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า กระแสอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านเผด็จการทหารนับวันจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นในเมียนมา และจะแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่ารัฐบาลเองจะพยายามกวาดล้างและกดดันทุกรูปแบบเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการสั่งปิดหนังสือพิมพ์และเพิกถอนใบอนุญาตผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ 5 ราย ซึ่งรวมถึงหนังสือพิมพ์ “เมียนมา นาว” (Myanma Now) มีการบุกยึดเอกสารและไฟล์คอมพิวเตอร์ในออฟฟิศสื่อเหล่านี้ด้วย

ที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นคือการปิดล้อมผู้ชุมนุมและใช้กระสุนจริงยิงใส่กลุ่มประชาชนอีกครั้งในการสลายการชุมนุมล่าสุดเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 มี.ค.) ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 3 คน พยานกล่าวว่าเห็นรถบรรทุกเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงเมียนมามาเต็มคันรถถึง 10 คันวิ่งเข้าบริเวณโรงพยาบาลกลางย่างกุ้งตะวันออกราว 19.30 น.วานนี้ ก่อนที่จะมีการเปิดฉากสลายการชุมนุม

เศรษฐกิจย่อยยับท่ามกลางการเผชิญหน้า 

ทั้งนี้ ธนาคารและสถานประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ในย่างกุ้งปิดทำการตั้งแต่วันจันทร์ รวมทั้งบริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติ เช่น บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือ เอ.พี.มอลเลอร์ เมิร์คส์ จากประเทศเดนมาร์ก ที่ประกาศปิดทำการอย่างน้อย 1 สัปดาห์จนถึงวันที่ 14 มี.ค. โดยให้เหตุผลว่า “ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเมียนมากำลังจะกลายเป็นหายนะ เราต้องตัดสินใจปิดทำการเพื่อความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของพนักงาน”   

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพการค้าแห่งเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ที่ลงนามร่วมโดย 18 องค์กรสมาชิก ออกมาแสดงจุดยืนว่า พวกเขาเรียกร้องการหยุดงานโดยไม่มีกำหนดเพื่อหยุดยั้งรัฐบาลทหารที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ซึ่งการหยุดงานดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมา

ออกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในปีนี้ (2564) จากเดิมประเมินไว้ 4.1% เหลือเพียง 2% ขณะที่มูดี้อินเวสเตอร์ฯ ออกรายงานเตือนว่า ความไม่แน่นอนซึ่งเป็นผลจากการรัฐประหารจะเป็นอุปสรรคชะลอการลงทุนของต่างชาติในเมียนมา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ ซึ่งจะยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วของเมียนมาท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: