“เทสลา” ดันราคาบิตคอยน์พุ่งทำนิวไฮ  

09 ก.พ. 2564 | 00:08 น.

“เทสลา อิงค์” ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ประกาศลงทุนในบิตคอยน์มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ราคาเงินดิจิทัลสกุลดังกล่าวทะยานไม่หยุด และทำสถิติราคาสูงสุดครั้งใหม่เหนือ 44,000 ดอลลาร์หรือราว 1.3 ล้านบาท

ราคาบิตคอยน์ดีดตัว ขึ้นอย่างต่อเนื่องวานนี้ (8 ก.พ.)  ขานรับข่าวที่ว่า บริษัท เทสลา ของ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชั้นแถวหน้าของโลก ได้เข้า ซื้อบิตคอยน์จำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 45,000 ล้านบาท และบริษัทพร้อมรับชำระการซื้อรถยนต์ด้วยเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ด้วย

 

นายอีลอน มัสก์ ส่งหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐว่า ทางบริษัทเทสลาได้เข้าซื้อบิตคอยน์จำนวนดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกระจายการลงทุน และเพื่อให้เงินสดของบริษัทสร้างผลตอบแทนสูงสุด โดยบริษัทจะกระจายเงินสดสำรองเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทองคำ และ ETF ทองคำ มากขึ้น

“เทสลา” ดันราคาบิตคอยน์พุ่งทำนิวไฮ  

ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เทสลา ได้ปรับนโยบายการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มผลตอบแทนของเงินสดสำรองซึ่งเป็นส่วนเกินจากเงินสำรองเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินงานปกติ ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกของบริษัทนั้น ได้แก่ ทองคำ และบิตคอยน์ เป็นต้น บริษัทระบุว่า อาจถือสินทรัพย์เหล่านี้ในเวลาระยะยาวได้ นอกจากนี้ เทสลายังจะเริ่มรับชำระเงินค่าซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วยเงินบิตคอยน์ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ของวงการยานยนต์

 

หลังการประกาศข่าวดังกล่าว ราคาของบิตคอยน์ ก็ได้รับแรงหนุนให้พุ่งทะลุ 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นการปรับเพิ่ม 9%  และถือเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ในทันที

 

ทั้งนี้ บิตคอยน์ได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว หลังจากที่นายอีลอน มัสก์ ติดแฮชแท็ก #bitcoin ในบัญชีทวิตเตอร์ของเขา นักวิเคราะห์จากบริษัทโซเชียล แคปิทัล คาดการณ์ว่า ราคาบิตคอยน์ยังคงสามารถพุ่งขึ้นต่อไป โดยอาจไปถึง 100,000 ดอลลาร์, 150,000 ดอลลาร์ และ 200,000 ดอลลาร์

 

ด้านนายนิโคลัส ปานิเกอร์โซโกล นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ในระยะยาวบิตคอยน์มีแนวโน้มทะยานขึ้นแตะระดับ 146,000 ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่จะทำให้บิตคอยน์มีแนวโน้มแข็งแกร่งมาจากการที่นักลงทุนเริ่มกระจายการลงทุนด้วยการเข้าซื้อบิตคอยน์นั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า  

 

การดีดตัวของบิตคอยน์ในครั้งนี้แตกต่างจากในปี 2560 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากกระแสตอบรับที่คึกคักจากกลุ่มบริษัทฟินเทคและนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด เช่น นายพอล ทิวดอร์ โจนส์ และนายสแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ ซึ่งแตกต่างไปจากในปี 2560 ที่ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนในบิตคอยน์จะเป็นนักลงทุนรายย่อย

 

ขณะเดียวกัน ตลาดเงินคริปโต (เงินดิจิทัล) ยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การที่เพย์พาล (PayPal) ยักษ์ใหญ่ฟินเทค ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการซื้อขายบิตคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆได้ นอกจากนี้ ลูกค้า PayPal ยังสามารถใช้สกุลเงินคริปโตในการซื้อสินค้าจากเครือข่ายร้านค้าปลีกจำนวน 26 ล้านแห่งของทางบริษัทได้ด้วย

 

ด้านบริษัท “สแควร์” (Square) ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ทางบริษัทได้เข้าซื้อบิตคอยน์มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ Square ยังได้เปิดให้บริการสกุลเงินคริปโตสำหรับลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชัน Cash ของทางบริษัท

 

อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันบิตคอยน์ คือการที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ทำให้สกุลเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลง ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองบิตคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าบิตคอยน์มีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับทองคำ ซึ่งนักลงทุนจะแห่เข้าซื้อในช่วงเวลาที่เกิดความตื่นตระหนก นอกจากนี้ นักลงทุนยังนิยมใช้บิตคอยน์เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจากการที่รัฐบาลต่างๆมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันออกมา   

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tesla พลาดเป้าขาย 5 แสนคัน แต่ยอดโต 36%

"เทสลา"ขึ้นแท่นผู้ผลิตรถยนต์มูลค่าสูงสุดในโลก

รวยสุดแล้ว'อีลอน มัสก์' ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 1

ธรรมดาโลกไม่จำ ถอดรหัสชื่อ X Æ A-12 ลูกชายอีลอน มัสก์