"บลูมเบิร์ก" ยกให้ไทยเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าสนใจอันดับ 1

05 ก.พ. 2564 | 00:21 น.

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยกให้ไทยเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าสนใจที่สุดเป็นอันดับ 1 ในปีนี้

เศรษฐกิจไทย ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก(Bloomberg)ได้ประเมิน มุมมองอนาคตเศรษฐกิจของไทยปี 2564 ว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจเป็นอันดับ 1 ใน 17 ประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economies) สะท้อนได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ความแข็งแกร่งในภาคการเงินระหว่างประเทศและศักยภาพในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ บลูมเบิร์กยังได้เผยแพร่ดัชนีประสิทธิภาพของระบบรักษาสุขภาพ (Bloomberg Heath-Efficiency Index 2020) โดยชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรก (อันดับที่ 9)ของประเทศที่มีระบบรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงเหนือกว่าอีกหลายประเทศจากกลุ่มตัวอย่าง 57 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แสดงให้เห็นถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพสูง

 

และสำหรับ "ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก" ประจำปี 2564 ที่จัดอันดับ 60 เขตเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมมากที่สุดนั้น ปรากฏว่า "ไทย"อยู่ในอันดับ 36 ดีขึ้น 4 อันดับจากปี 2563 ได้คะแนนรวม 65.42

 

บลูมเบิร์กอธิบายว่า ดัชนีนี้พิจารณาจากหลายเกณฑ์ เช่น ความเข้มข้นด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การผลิตมูลค่าเพิ่ม ความหนาแน่นของไฮเทค ความหนาแน่นของนักวิจัย รวมถึงการจดสิทธิบัตร อันดับของไทยที่ดีขึ้นถึง 4 อันดับเป็นเรื่องที่ดี สะท้อนว่า ไทยยังมีโอกาสพัฒนาต่อยอดในเรื่องนวัตกรรมได้อีก

 

ทั้งนี้ 10 อันดับแรกในดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กประจำปี 2564  ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อิสราเอล ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐอเมริกาและจีน ที่เป็นสองเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลก มีนวัตกรรมมากมายแต่อันดับกลับลดลงในปีนี้ โดยสหรัฐเคยครองที่ 1 ดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กเมื่อปี 2556 ปีนี้ตกลงไป 2 อันดับ โดยอยู่อันดับที่ 11

 

การจัดอันดับของบลูมเบิร์กครั้งนี้ สะท้อนถึงโลกที่ใช้นวัตกรรมเป็นธงนำเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ตั้งแต่ความพยายามของรัฐบาลในการสกัดการแพร่ระบาด ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ใช้เพื่อให้ทุกประเทศเดินหน้าต่อได้ รวมถึงการแข่งขันพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งโรคระบาด

 

ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยวานนี้ (4 ก.พ.) เกี่ยวกับการที่บลูมเบิร์กยกให้ไทยเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าสนใจที่สุดว่า สถานการณ์ทางการคลังประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยฐานะทางการคลังมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ระดับเงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เพียงพอสามารถรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐและการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณสิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาทซึ่งมากกว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5 นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.1 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 52.1 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 และซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

 

อย่างไรก็ดี หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำที่สุดในปี 2563 แล้ว และได้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้นตามลำดับ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำวัคซีนมาใช้ในปี 2564 นี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจค่อยๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็จะมีแนวโน้มดีขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บลูมเบิร์ก” ยกไทยเป็น "ตลาดเกิดใหม่ที่ดึงดูดใจที่สุด" ในปี 64

สุดยอด'นวัตกรรม' พิชิตไวรัสโควิด-19

IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 5.5% อานิสงส์วัคซีนโควิด