“บลูมเบิร์ก” ยกไทยเป็น "ตลาดเกิดใหม่ที่ดึงดูดใจที่สุด" ในปี 64

18 ธ.ค. 2563 | 22:58 น.

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยผลสำรวจกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ (emereging market) 17 ประเทศ ผ่านตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเงิน 11 มิติ พบว่า ประเทศไทยเข้าอันดับเป็นที่ 1 ของการสำรวจ นำหน้าแม้กระทั่งรัสเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่ตามมาเป็นอันดับ 2-4 ขณะที่จีนรั้งท้ายในอันดับที่ 17

 

ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในการสำรวจ แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ 17 ประเทศของบลูมเบิร์ก เนื่องจากมีทุนสำรองที่มั่นคง และมีศักยภาพสูงที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศ โดยไทยได้รับการคาดการณ์จีดีพีปีหน้า จะขยายตัว 3.9% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีจะเกินดุล 3.1% และดุลงบประมาณต่อจีดีพีจะขาดดุล - 4.9% (ซึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 17 ประเทศ รวมทั้งไทย ไม่มีประเทศไหนเกินดุล ดังตารางประกอบ) ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 41%

 

ส่วนรัสเซีย ที่เข้าอันดับเป็นที่ 2 มีบัญชีภายนอกและโปรไฟล์ทางการเงินที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินรูเบิลยังมีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัสเซียมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับต่ำมาก แต่มีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ต่ำกว่าไทยเล็กน้อย

 

ขณะที่จีน มีผลคะแนนรั้งท้ายที่สุดของตารางทั้งที่ถูกตั้งความคาดหวังไว้สูง แม้บลูมเบิร์กจะคาดการณ์ว่าปีหน้าจีดีพีของจีนจะขยายตัวถึง 8.1% ก็ตาม แต่กลับมีเงินทุนสำรอง และมีนโยบายการคลังน้อยเกินไป ส่วนบราซิลที่เข้าอันดับเหนือจีนในอันดับที่ 16 นั้น ผลงานค่อนข้างแย่ เนื่องจากขาดดุลการคลัง และปัญหาหนี้สาธารณะ

 

“บลูมเบิร์ก” ยกไทยเป็น \"ตลาดเกิดใหม่ที่ดึงดูดใจที่สุด\" ในปี 64

การสำรวจพบว่า หลายประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่พร้อมที่จะฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดที่หลากหลาย ทั้งนี้ เงินสำรองต่างประเทศของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเอเชีย ซึ่งเป็นตัวช่วยซับแรงสะเทือนจากปัจจัยลบภายนอก แต่สัดส่วนหนี้ต่อจีพีดีที่ปรับเพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินที่จะต้องจับตาระมัดระวัง

 

สินทรัพย์ของประเทศกำลังพัฒนากำลังฟื้นตัวขึ้นถ้วนหน้า เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการเงินและการคลังเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลักดันกระแสเงินสดเข้าสู่ระบบในปริมาณที่มากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัว และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ท่ามกลางมูลค่าสินทรัพย์ที่ดี และผลตอบแทนที่แท้จริงที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา

 

และเพื่อช่วยในการพิจารณาเลือกว่าตลาดเกิดใหม่ประเทศใดจะรับมือกับความท้าทายและโอกาสเหล่านั้นได้ดีกว่าคู่แข่ง บลูมเบิร์กได้สรุปข้อมูลโดยย่อไว้ดังนี้

การฟื้นตัวจากโควิด-19

ยังมีความวิตกกังวลว่าประเทศยากจนและประเทศด้อยพัฒนาจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการกระจายวัคซีน ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้รับความสนใจอย่างมากในฐานะประเทศผู้ผลิตวัคซีน จนสามารถคาดหวังได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบทั่วหน้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 รวมถึงประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม การสำรวจของบลูมเบิร์กชี้ว่า นักวิเคราะห์พากันคาดหมายว่าบางประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 ในปี 2563 จะพลิกฟื้นกลับมามีการเติบโตอย่างชัดเจนในปีหน้า (2564) โดย Top 5 ของประเทศที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูง ล้วนมาจากเอเชีย นำโดย อินเดีย จีน และฟิลิปปินส์

 

การเติบโตหลังปลดล็อกดาวน์

การฟื้นตัวหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์ (lockdown indexes) เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งในการสำรวจครั้งนี้  โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า เมื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ โดยข้อมูลการสำรวจพบว่าหากพิจารณาในแง่นี้ มาเลเซีย ชิลี และฟิลิปปินส์ มีอนาคตสดใสที่สุดในปี 2564  

 

จุดเปราะบางทางโครงสร้างเศรษฐกิจ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจย่ำแย่ลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลงบประมาณที่จะเพิ่มภาระทางการเงินให้กับรัฐบาล ยกตัวอย่างการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศโคลอมเบียและตุรกี ทำให้สองประเทศนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นจากปัจจัยลบต่าง ๆ

 

ขณะที่การขาดดุลการคลังของบราซิล แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ ก็ยิ่งซ้ำเติมรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ที่แบกภาระหนี้สูงอยู่แล้ว และเมื่อพูดถึงเรื่องภาระหนี้แล้ว ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นความกังวลในปีหน้า สำหรับประเทศแอฟริกาใต้ ฮังการี อินเดีย และบราซิล

 

มูลค่าสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

การสำรวจของบลูมเบิร์กพบว่า ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (real-effective-exchange rates :REER) ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ 5 ปีที่ผ่านมาของประเทศบราซิล ตุรกี ฮังการี และมาเลเซีย นั้นยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ   

 

ส่วนธนาคารกลางของจีนนั้นยังคงจะถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะส่งสัญญาณใด ๆไปในทิศทางที่ชี้ว่าจะพยายามต้านทานไม่ให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นหรือไม่  

 

ข้อมูลอ้างอิง

China Lags as Thailand, Russia Rank Top Emerging Market Picks