โอกาสทองการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์

26 เม.ย. 2563 | 01:45 น.

เมื่อกล่าวถึงดาวเด่นของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงหนีไม่พ้นเวียดนาม เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่มีเสถียรภาพมากที่สุดของโลกแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมั่นคงอีกด้วย

 

จึงไม่น่าแปลกใจหากราคาอพาร์ตเมนต์ระดับไฮเอนด์ หรืออาคารพาณิชย์ รวมถึงราคาที่ดินจะปรับตัวสูงขึ้นในทุกๆ ปี เพราะนอกจากจะเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามนั้นยังได้รับการส่งเสริมจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ผ่อนปรนมากขึ้น และผลดีจากข้อตกลงต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีราคาถูกกว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน และสิงคโปร์ จึงทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเวียนเข้ามาในเวียดนามมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม 2561 ยังพบว่า เวียดนามมีบริษัทจัดตั้งขึ้นใหม่อีก 1,400 แห่ง เพิ่มขึ้นถึง 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพบว่าเป็นกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 460 แห่ง เติบโตขึ้น 47% และมีมูลค่าการจดทะเบียนรวมอยู่ที่ 17.5 ล้านล้านเวียดนามดอง ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ในเวียดนามขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ของธุรกิจที่ต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด รองจากอุตสาหกรรมการผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน

 

เวียดนามมี นครโฮจิมินห์ เป็นแหล่งการลงทุนหลักจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นจุดหมายที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนมากที่สุดในประเทศ มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 8.6 ล้านคนในปี 2562 และในปีเดียวกันนี้เอง นครโฮจิมินห์ก็ยังได้ติดอันดับ 1 ใน 3 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 25% ของมูลค่า FDI ทั้งหมดของนครโฮจิมินห์ โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

โอกาสทองการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์

นอกจากนี้นครโฮจิมินห์ยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 8.02% และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมถึง 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นมหานครทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เนื่องจากมีการจัดเก็บรายได้มากกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ

 

ยิ่งไปกว่านั้น JL City Momentum Index 2020 ยังได้จัดอันดับให้นครโฮจิมินห์เป็นนครที่มีพลวัตรสูงที่สุดอันดับ 3 จาก 130 มหานครทั่วโลก และเนื่องด้วยพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูงนี้เองที่ทําให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ CBRE ระบุว่า ราคาคอนโดมิเนียมหรูในนครโฮจิมินห์พุ่งสูงขึ้น 17% ในปี 2561 มาเฉลี่ยอยู่ที่ 5,518 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร นอกจากนี้ นครโฮจิมินห์ยังเป็นหนึ่งในมหานครที่ตลาดพื้นที่เช่าสำนักงานเติบโตสูงสุดในโลก โดยเฉพาะพื้นที่สํานักงานเกรด A และ B ซึ่งมีราคาสูงขึ้นถึง 29.1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตารางเมตร ตามสถิติเมื่อปี 2562 ทําให้อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal investment return: IRR) สําหรับนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นสูงถึง 20%

 

นอกจากปัจจัยที่ประเทศเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ การให้อิสระกับบริษัทเอกชน กฎหมายที่ผ่อนปรนขึ้น และข้อตกลงการค้ากับประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโตแล้ว ก็ยังมีปัจจัยการขยายตัวและกำลังซื้อของกลุ่มผู้ซื้อในเวียดนามที่สูงขึ้น โดยรายงานเมื่อปี 2560 ของบริษัทไนท์ แฟรงค์ฯ ระบุว่า จำนวนชาวเวียดนามที่มีสินทรัพย์สุทธิ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป เพิ่มขึ้น 320% ตั้งแต่ปี 2549-2559 ถือว่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลกและแซงหน้าทั้งอินเดียและจีน ทำให้บรรดานักลงทุนให้ความสนใจและไม่ลังเลที่จะทุ่มเงินมหาศาลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนี้

 

แม้ว่าในปัจจุบันโลกจะต้องเจอกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลายๆ ธุรกิจต้องเจอกับอุปสรรคอย่างหนักหน่วง ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากสถานการณ์ที่แย่ลงและมาตรการที่จำเป็นต่อการควบคุมโรค ไม่เว้นแม้แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เอง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 หลายๆ บริษัททางด้านอสังหาริมทรัพย์ต้องเลื่อนแผนการประกาศโปรโมชันทางการตลาดและลดราคาในช่วงหลังเทศกาลออกไป ซึ่งปกติแล้วจะเป็นช่วงที่มีปริมาณการซื้อขายสูง

 

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ตลาดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามอาจจะเกิดปรากฏการณ์ดีดกลับ (rebound) ภายหลังภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ความต้องการซื้อที่ถูกกดทับไว้และคาดว่าจะมีการแข่งขันทางราคาสูงเมื่อวิกฤตการณ์สิ้นสุดลง จึงถือเป็นโอกาสของนักลงทุนที่มีความพร้อมจะเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณภาวะฟองสบู่ เพราะอุปสงค์ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่อุปทานกลับไม่สอดรับกับอุปสงค์ที่ทะยานขึ้น โดยนักลงทุนที่ให้ความสนใจมากที่สุดในเวลานี้ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 23 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563

โอกาสทองการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์