เอเชียอ่วมสุด รายได้แอร์ไลน์จ่อทรุด 1.8 ล้านล้าน

06 มี.ค. 2563 | 08:22 น.

 

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (IATA) เปิดเผยวานนี้ เกี่ยวกับตัวเลขประมาณการความเสียหายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ที่มีต่ออุตสาหกรรมสายการบินทั่วโลกในปีนี้ (2563) คาดว่าจะอยู่ที่ระหว่าง 63,000-113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.95-3.5 ล้านล้านบาท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพร่ระบาด  ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนัก โดยในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด รายได้สายการบินของภูมิภาคเอเชียจะเสียหายได้ถึง 58,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.79 ล้านล้านบาท   

 

เอเชียอ่วมสุด รายได้แอร์ไลน์จ่อทรุด 1.8 ล้านล้าน

จ่อเสียหายยิ่งกว่าช่วงวิกฤติการเงินโลก

ทั้งนี้ ไออาต้าตั้งสมมุติฐานว่า หากสามารถควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ภายในพื้นที่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ( ข้อมูล ณ 2 มีนาคม 2563) มูลค่าความเสียหายก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.95 ล้านล้านบาท ตามมาด้วยการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในลักษณะกราฟรูปตัววี (V) แต่หากไม่สามารถควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาด มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกในหลายประเทศ ความเสียหายก็อาจพุ่งขึ้นสู่หลัก 113,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.5 ล้านล้านบาท

 

ตัวเลขความสูญเสียดังกล่าวนี้ หมายถึงรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสารที่หายวูบไป 11-19% ทั่วโลก และเป็นการปรับตัวเลขประมาณการความเสียหายที่สูงขึ้นกว่าเดิม ที่ไออาต้าเคยคาดไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าน่าจะอยู่ที่ระดับเพียง 29,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.08 แสนล้านบาทเท่านั้น    

เอเชียอ่วมสุด รายได้แอร์ไลน์จ่อทรุด 1.8 ล้านล้าน

ไออาต้าคาดการณ์ว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) รายได้ของสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาจจะพบกับความสูญเสียได้มากถึง 58,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.79 ล้านล้านบาท  โดยตลาดการบินหลักๆของภูมิภาคนี้ ซึ่งได้แก่  จีนแผ่นดินใหญ่ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อาจจะมีจำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 23% และเฉพาะตลาดจีนนั้น อุตสาหกรรมการบินอาจจะสูญเสียรายได้ได้มากถึง 22,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 682,000 ล้านบาท   

 

การประเมินของไออาต้าข้างต้นนี้ ครอบคลุมเฉพาะสายการบินขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น ไม่รวมสายการบินประเภทขนส่งสินค้า

 

นายไบรอัน เพียร์ซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไออาต้า กล่าวกับสื่อมวลชนที่สิงคโปร์วานนี้ (5 มี.ค.)ว่า ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมการบินโลกเคยพบกับเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบขั้นรุนแรงต่อรายได้ของทั้งอุตสาหกรรมมาแล้ว เรียกได้ว่าเป็น revenue shock เกิดขึ้นในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งโลกเผชิญกับวิกฤติการเงิน


 

เอเชียอ่วมสุด รายได้แอร์ไลน์จ่อทรุด 1.8 ล้านล้าน

สายการบินดิ้นช่วยตัวเองเพื่ออยู่รอด

สายการบินจำนวนมากได้ออกมาตรการประคองตัวเองอย่างเร่งด่วนเพื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ ซึ่งครอบคลุมถึงการลดต้นทุนดำเนินการ การลดจำนวนเที่ยวบิน  และมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารตลอดจนพนักงานของสายการบิน รายงานระบุว่า คาเธ่ย์ แปซิฟิก เป็นสายการบินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อไม่นับรวมบรรดาสายการบินของจีนแผ่นดินใหญ่  เมื่อมีการนำมาตรการให้พนักงานลาพักร้อนโดยไม่รับเงินเดือนมาใช้ ปรากฏว่ามีพนักงานถึง 75% จากทั้งหมดขอใช้เงื่อนไขดังกล่าว  นอกจากนี้ คาเธ่ย์ ยังงดรับพนักงานใหม่ทุกตำแหน่งเป็นการชั่วคราว ระงับโครงการลงทุนที่ไม่สำคัญ และขอความร่วมมือจากซัพพลายเออร์ในการร่วมลดต้นทุน เป็นต้น  

 

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีศูนย์กลางการแพร่เชื้อจากจีนแผ่นดิน คาเธ่ย์ฯ ลดเที่ยวบินรายสัปดาห์ลงถึง 3 ใน 4 ของทั้งหมด และส่งผลให้เครื่องบิน 120 ลำต้องจอดอยู่เฉยๆ ไม่ได้ขึ้นบินตามปกติ เช่นเดียวกับสายการบินลุฟต์ฮันซ่าของเยอรมนี ที่ออกมาระบุว่า มีเครื่องบินที่งดให้บริการถึง 150 ลำ หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของเครื่องบินทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่   ขณะเดียวกัน สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศลดเที่ยวบินระหว่างประเทศลง 1 ใน 5 ของเที่ยวบินทั้งหมด ส่วนเที่ยวบินภายในประเทศลดลง 10% ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

 

ด้านบริติชแอร์เวย์ส ของอังกฤษ ประกาศจะปรับลดเที่ยวบินลง 216 เที่ยวบิน(เส้นทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เริ่มตั้งแต่ 16 มี.ค. ถึง 28 มี.ค.  ขณะที่สายการบินอังกฤษอีกรายคือ ฟลายบ์ (Flybe) ซึ่งมีปัญหาทางการเงินอยู่แล้วเมื่อเจอผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็ทำให้บริษัทเข้าสู่ภาวะล้มละลายเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อพนักงานของสายการบินจำนวนกว่า 2,300 ราย   

 

อเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอคซ์

สิ่งที่ร้องขอจากประธานไออาต้า

นายอเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอคซ์ ผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไออาต้า เรียกร้องในนามของ 290 สายการบินที่เป็นสมาชิก ให้รัฐบาลของนานาประเทศรีบยื่นมือเข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมสายการบินให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้  “รัฐบาลกรุณารับทราบด้วยว่า สายการบินพยายามอย่างเต็มที่ที่สุดแล้วที่จะนำพาตัวเองให้รอดพ้นวิกฤติครั้งนี้  ในขณะที่รัฐบาลทั้งหลายพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการต่างๆที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ สายการบินเองก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ เช่นความช่วยเหลือทางด้านภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ และการจัดสรรลานจอดในสนามบิน” 

 

ผู้บริหารของไออาต้ากล่าวว่า นี่คือช่วงเวลาวิกฤติที่มีผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน หลายประเทศมีมาตรการจำกัดและห้ามการเดินทาง หรือระงับการออกวีซ่าให้บุคคลที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดหนัก ซึ่งมาตรการดังกล่าวทั้งไออาต้าและองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยากจะต้านทานเนื่องจากรัฐบาลนานาประเทศต่างเห็นความจำเป็นที่จะต้องสกัดกั้นและจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาด เนื่องจากขณะนี้โควิด-19 ได้แพร่กระจายไปในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 96,300 คน และเสียชีวิตรวม 3,300 คน