‘โสมขาว’ไร้ผู้นำซ้ำเติมศก. ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าจากทรัมป์-จีน-หนี้ครัวเรือน

16 มี.ค. 2560 | 13:00 น.
การถอดถอน “ปาร์ค กึน-เฮ” ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนเศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน ในช่วงสุญญากาศทางการเมือง 2 เดือนจากนี้ไป

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีคำตัดสินยืนยันมติการถอดถอนนางสาวปาร์ค กึน-เฮ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มีนาคม) นำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งสุญญากาศทางการเมือง 2 เดือนจากนี้ไปก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลายประการที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญ

นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยฮุนไดของเกาหลีใต้ ระบุว่าเวลานี้เศรษฐกิจของประเทศเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการค้าของนายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2. การตอบโต้การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ จากประเทศจีน 3. ความเสี่ยงจากความมั่นคงของสหภาพยุโรป (อียู) จากผลของเบร็กซิท 4. การยั่วยุของเกาหลีเหนือ และ 5. ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ธนาคารกลางเกาหลีใต้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ที่ 2.5% ในปีนี้ นับเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่านี้ เมื่อเร็วๆ นี้นักวิเคราะห์จากไดวา แคปิตอลมาร์เก็ตส์ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเกาหลีใต้ลงจาก 2.3% เหลือเพียง 1.75% โดยอ้างเหตุผลของความสัมพันธ์กับจีนที่ตึงเครียดยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้จับตาดูสถานการณ์ของตลาดเงินทุนอย่างใกล้ชิด หลังประเทศจะต้องเผชิญกับภาวะสุญญากาศทางการเมือง "รัฐบาลจะดำเนินการภายใต้ภาวะฉุกเฉินต่อไป และจัดการกับปัญหาที่ค้างคาอย่างจริงจัง" นายยู อิล-โฮ รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างความเชื่อมั่น แต่ก็มีความกังวลว่าการขาดผู้นำประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการวางนโยบายและตัดสินใจเรื่องสำคัญในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญความเสี่ยวหลายประการ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ชะลอการลงทุนและการจ้างงานมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 3 ของปี

ทั้งนี้ เริ่มมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นจากทางฝั่งเกาหลีใต้ ต่อท่าทีของรัฐบาลของนายทรัมป์ ว่าอาจจะมีการเรียกร้องให้เจรจาเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ใหม่ และกล่าวหาเกาหลีใต้ว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ จะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศรุนแรงขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ชี้ว่า หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,344.3 ล้านล้านวอนในช่วงสิ้นปี 2559 หรือคิดเป็น 83% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจจะทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นและกดดันการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซาอยู่แล้ว นอกจากนี้อาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากเกาหลีใต้กลับไปตลาดสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ขณะที่มาตรการตอบโต้ของจีนจากกรณีที่เกาหลีใต้ยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense) ได้กลายมาเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการด้านคอนเทนต์ ท่องเที่ยว และค้าปลีก หลังจากมีรายงานว่าทางการจีนสั่งให้ตัวแทนท่องเที่ยวรายใหญ่เลิกขายแพ็กเกจทัวร์เกาหลีใต้ และร้านค้าปลีกในเครือล็อตเต้บางแห่งในจีนถูกสั่งปิดกิจการ

ทั้งนี้ การส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 4.942 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560