โควิด-19 ดัน กลุ่มงานเอาท์ซอร์ส-งานระยะสั้น โต

24 พ.ค. 2564 | 11:12 น.

แมนพาวเวอร์ เผยตลาดงาน - แรงงาน เด้งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมชี้การจ้างงานรูปแบบเอาท์ซอร์ส - งานระยะสั้น มีแนวโน้มเติบโต รองรับวัฒนธรรมการทำงานปกติใหม่ในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ระบุ ผลการเปลี่ยนแปลง ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานระยะสั้นและรองรับทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564


นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระลอกที่ 3 ส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและการแพร่กระจายที่กว้างขึ้น เมื่อเทียบกับสองระลอกที่ผ่านมา แต่องค์กรต่างๆ ยังคงปรับรูปแบบการทำงานของตนอย่างต่อเนื่องในช่วงต่างๆ การระบาด หากจะวิเคราะห์เจาะไปถึงรูปแบบการจ้างงานและกลุ่มแรงงานจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้แนวโน้มการจ้างการของนายจ้าง หันมาใช้การจ้างงานในรูปแบบเอาท์ซอร์ส (Outsource) เพิ่มมากขึ้น ด้วยสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดและการระบาดรอบใหม่, แรงงานต่างด้าวที่กลับประเทศ รวมถึงข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ

โควิด-19 ดัน กลุ่มงานเอาท์ซอร์ส-งานระยะสั้น โต

สาเหตุดังกล่าว ทำให้นายจ้างเลือกใช้ “แรงงานคนไทย” ในรูปแบบเอาท์ซอร์ส (Outsource) มากขึ้น เพื่อบริหารจัดการต้นทุน โดยเริ่มจาก การทดลองว่าจ้างพนักงานเป็นการจ้างงานระยะเวลาสั้นๆ โดยระยะเวลาในการจ้างสั้นลง จาก 1 ปี เป็น 3-4 เดือน ตามความต้องการของลูกค้า ที่อาจยังคงไม่มากหรือต่อเนื่อง แต่ต้องการกำลังการผลิตสำหรับความต้องการและกำลังซื้อในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายทั้งจากในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ การจ้างงานรูปแบบเอาท์ซอร์ส นายจ้างสามารถเปลี่ยนจากพนักงานสัญญาจ้างมาเป็นพนักงานประจำได้ ยิ่งทำให้นายจ้างวางแผนกำลังคนได้แม่นยำ สามารถควบคุม ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยังคงไม่แน่นอนแต่ยังคงสามารถรักษากำลังการผลิตสำหรับอนาคตได้

ทางด้านอัตราการใช้แรงงานในภาพรวม ขณะนี้ยังคงมีการเพิ่มลดจำนวนคนในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อสังเกตการณ์และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานบางกลุ่มเพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน คาดการณ์หลังควบคุมภาวะการแพร่ระบาดระลอก 3 แรงงานมีทิศทางขยายตัวและใช้เวลากว่าจะฟื้นตัวได้ตามปกติ 

อัตราการขยายตัวมีความแปรผันตามทิศทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากการฉีดวัคซีนโควิดเริ่มแพร่หลาย ความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตและความปลอดภัยมีมากขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่จะมีมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ แนวโน้มการจ้างงานมีมากขึ้นในบางธุรกิจ และบางธุรกิจเป็นรูปแบบของการจ้างงานระยะสั้น โดยครึ่งปีหลัง ทั้งการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจบริการต่างๆ คาดการณ์สัญญาณบวกด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ที่มีต่อตลาดแรงงานในช่วงครึ่งปีหลัง หากมีมาตรการกระตุ้น

ทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม กอปรกับ แผนการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและครอบคลุมตามเป้าหมายในระดับประเทศ จะเป็นการซ่อมสร้าง ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยทำให้ตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาอีกครั้ง

จากการแพร่ระบาดและความตึงเครียดทางการเมืองอื่น ๆ ผู้ประกอบการธุรกิจต้องปรับแผนกำลังคนโดยจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพื่อการผลิตและคลังสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางกลับประเทศบ้านเกิด เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กจึงจำเป็นต้องจัดการกับการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและความไม่แน่นอนในการจ้างแรงงานต่างชาติท่ามกลางวิกฤตในปัจจุบัน

ทิศทางแรงงานที่คาดว่าจะฟื้นตัวครึ่งปีหลัง กลุ่มแรงงานที่น่าจับตาคือ แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยแมนพาเวอร์ประเมินจากกำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมแต่ละประเทศ ที่จะเริ่มตั้งแต่กลางปี 2564 ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแผนการฉีดวัคซีนโควิดให้ทั่วถึงในไตรมาสที่ 4 ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีน และยุโรป 

ผลจากการเร่งฉีดวัคซีน ในแต่ละประเทศ แผนการฉีดวัคซีนน่าจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาสที่ 4 หากสามารถกระจายได้มากกว่า 60-70% ประเทศไทยจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้มากขึ้น  โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย มีแผนการฉีดวัคซีนในระดับครอบคลุม เริ่มตั้งแต่กลางปีจนถึงปลายปีนี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า จะเห็นสัญญาณของการเดินทางจากนักท่องเที่ยวประเทศต่างๆ กลับคืนมาได้ในช่วงปลายปีนี้อีกครั้ง

ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ยังมีอยู่ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และแรงงานต้องเตรียมการผลิตสินค้าที่จะมาช่วงปลายปี เพื่อป้อนให้กับตลาดที่มีกำลังการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงสองไตรมาสสุดท้ายของปี ปัจจัยเหล่านี้ จะส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการจ้างงานอย่างต่อเนื่องในรูปแบบการทำงานปกติใหม่ 

ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานและผู้ประกอบธุรกิจควรเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและองค์กรด้วย “การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานตอบโจทย์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ (Reskill) และ การพัฒนายกระดับทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตต่อไป (Upskill) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมรับมือสำหรับการก้าวสู่ยุคความปกติถัดไป (Next Normal) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง